สารป้องกันและกำจัดแมลงในโลกใบนี้ จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- สารป้องกันและกำจัดแมลงแบบมีพิษ เช่น ไพรีทรอยด์ ไพรีทรินและไพรีทรัม ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลง (ไพรีทรอยด์ ไพรีทรินและไพรีทรัมคือะไร? อ่านไปเรื่อยๆจนจบจะเข้าใจครับ)
- สารป้องกันและกำจัดแมลงแบบไร้พิษ เช่น แป้งเด็ก ผงชัน น้ำมันพืชและน้ำ
ไพรีทรอยด์จัดอยู่ในกลุ่มของสารกำจัดแมลงและมีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ความเป็นพิษจะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของไพรีทรอยด์ ปริมาณสารที่สิ่งมีชีวิตได้รับ ช่องทางการรับสารเข้าสู่ร่างกาย สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นและการได้รับสารซ้ำๆ
ไพรีทรอยด์เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลงที่เราพบเห็นได้ทั่วไป หากเราไม่ทราบข้อมูลอะไรเลย เราอาจกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ในบ้านอย่างไม่รู้ตัวและขาดความระมัดระวังในการใช้งาน อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารพิษสะสมได้ในระยะยาว
ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกียวกับเรื่องไพรีทรอยด์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดมดแมลงได้อย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อตัวเรา คนในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง
ไพรีทรอยด์คืออะไร?

ไพรีทรอยด์เป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่ถูกสังเคราะห์เลียนแบบสารไพรีทรินซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงตามธรรมชาติที่ได้จากดอกเบญจมาศและดอกเก๊กฮวย ไพรีทรอยด์เป็นชื่อของกลุ่มยาฆ่าแมลง มีอยู่หลายชนิด มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามส่วนผสมและโครงสร้างทางเคมี
ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) มีกี่ประเภท?
ไพรีทรอยด์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ไพรีทรอยด์ประเภทที่ 1 ไม่มีส่วนผสมของ alpha cyano
- ไพรีทรอยด์ประเภทที่ 2 มีส่วนผสมของ alpha cyano
สาร alpha cyano (อัลฟ่า ไซยาโน) เป็นสารที่ช่วยให้ไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษสูงขึ้น การออกฤทธิ์มีความเสถียร ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงที่มีมากขึ้น
รายชื่อของสารกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์และไพรีทริน
เนื่องจากสารในกลุ่มนี้มีหลายชนิด เท่าที่นับได้มีทั้งหมด 22 ชนิด การแสดงรายละเอียดส่วนประกอบบนฉลากผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงควรจะมีชื่อของสารตัวใดตัวหนึ่งดังต่อไปนี้ปรากฏอยู่
- Allethrins (อัลเลทริน)
- Bifenthrin (ไบเฟนทริน)
- Cyfluthrin and beta-cyfluthrin (ไซฟลูทรินและเบตา-ไซฟลูทริน)
- Gamma-cyhalothrin (แกมมา-ไซฮาโลทริน)
- Cypermethrin (ไซเพอร์เมทริน)
- Cyphenothrin (ไซฟีโนทริน)
- d-phenothrin (ดี-ฟีโนทริน)
- Deltamethrin (เดลต้าเมทริน)
- Esfenvalerate (เอสเฟนวาเลเรต)
- *Etofenprox (อีโทเฟนพรอกซ์)
- Fenpropathrin (เฟนโปรพาทริน)
- Flumethrin (ฟลูเมทริน)
- Imiprothrin (อิมิโพรทริน)
- Lambda-cyhalothrin (แลมบ์ดาไซฮาโลทริน)
- Momfluorothrin (มอมฟลูออโรทริน)
- Permethrin (เพอร์เมทริน)
- Prallethrin (พราเลทริน)
- Pyrethrins (ไพรีทริน)
- Tau-fluvalinate (เทา-ฟลูวาลิเนต)
- Tefluthrin (เทฟลูทริน)
- Tetramethrin (เตตระเมทริน)
- Tralomethrin (ทราโลเมทริน)
*Etofenprox (อีโทเฟนพรอกซ์) ไม่ใช่ไพรีทรอยด์และไพรีทรินแต่มีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกับสารในกลุ่มนี้ จึงถูกจัดเป็นหมวดหมู่เดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีสารอีกจำพวกหนึ่ง คือ สารกำจัดแมลงประเภท Synergist ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงที่มีการผสมของไพรีทรอยด์และไพรีทรินเข้าด้วยกัน จำนวน 2 ชนิด ดังรายชื่อต่อไปนี้
- MGK-64
- Piperonyl butoxide (ปิเปอโรนิล บิวทอกไซด์)
ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องจำชื่อสารพวกนี้นะครับ แค่อ่านผ่านๆรู้ไว้เฉยๆและใช้อ้างอิง เช่น เวลาซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง อาจจะเปรียบเทียบข้อมูลในบทความนี้กับบนฉลากว่าผู้ผลิตใช้สารตัวใด อยู่ในกลุ่มไพรีทรอยด์และไพรีทรินหรือไม่? แล้วนำชื่อสารไปค้นข้อมูลเพื่อดูการออกฤทธิ์ ผลข้างเคียง ส่วนข้อควรระวัง วิธีแก้พิษหรือการแก้ปัญหาเมื่อร่างกายได้รับสาร มักจะมีเขียนที่ฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องแจ้งผู้บริโภคตามกฎหมายอยู่แล้ว
การออกฤทธิ์ของไพรีทรอยด์
ไพรีทรอยด์เป็นสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติและเกิดภาวะอัมพาตของอวัยวะในร่างกาย
ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์เกียวข้องกับการกำจัดแมลงทุกชนิด เช่น เห็บ หมัด มด ยุงและแมลงสาบ ซึ่งเป็นสัตว์ทีสร้างความรำคาญและเป็นพาหะนำโรคติดต่อมาสู่คนและสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตหริอร้านขายยาทั่วไป ยกตัวอย่าง เช่น
- สเปรย์กำจัดแมลง ยุง มดและแมลงสาบ
- สบู่และแชมพูอาบน้ำสำหรับสุนัข สูตรกำจัดเห็บหมัด
- เครื่องไล่ยุงแบบใช้น้ำยา (มีน้ำยาเป็นขวด เวลาใช้งานจะต้องเสียบปลั๊ก)
- ชอล์กกันมด
- พลาสติกกันมด
- ถุงขยะกันมด
- แผ่นรองกันมด บางยี่ห้อ
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ไพรีทรอยด์ไม่เพียงถูกนำมาใช้กำจัดแมลงภายในบ้าน แต่ยังถูกนำไปใช้กำจัดแมลงในระบบเกษตรกรรมอย่างแพร่หลาย ถ้าเราศึกษาประวัติความเป็นมาของไพรีทรอยด์ดีดีจะพบว่า การคิดค้นสารไพรีทรอยด์มีต้นกำเนิดจากการพยายามแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชนั่นเอง
ประโยชน์ของไพรีทรอยด์
- กำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้หลากหลายชนิด
- กำจัดแมลงที่ก่อโรคและก่อความรำคาญในคนและสัตว์
- ราคาถูก ประหยัด ทุกคนมีกำลังในการซื้อใช้ได้
- มีความเสถียรในการออกฤทธิ์และมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงดีกว่าสารธรรมชาติ เช่น ไพรีทรินหรือไพรีทรัมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานกว่าไพรีทรินหรือไพรีทรัม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้สารมากกว่ามีความจำเป็นมากสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้น เนื่องจากมีประชากรยุงจำนวนมาก
- ไพรีทรอยด์จะมีบทบาทสำคัญในการกำจัดและลดประชากรยุงเพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย
- เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือนาโนเทคโนโลยีสามารถผสมไพรีทรอยด์เข้ากับวัสดุชนิดต่างๆได้ เช่น พลาสติก เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับบ้านในเขตร้อนที่มีแมลงพาหะเยอะ
โทษของไพรีทรอยด์
ขึ้นชื่อว่ายาฆ่าแมลงแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ความเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์และการตกค้างในสิ่งแวดล้อม การใช้งานไพรีทรอยด์จึงต้องมีการควบคุมอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการใช้ จุดที่ใช้งานและลักษณะการใช้งาน เพื่อจำกัดความเสี่ยง ลดผลข้างเคียงและควบคุมอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้สารชนิดนี้
ไพรีทรอยด์นอกจากมีความเป็นพิษต่อมนุษย์แล้วยังเป็นพิษต่อสัตว์หลายชนิด เช่น แมว สุนัข สัตว์น้ำทุกชนิดหรือแม้กระทั่งนก ความรุนแรงหรือความเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับสัตว์จะมากจะน้อยขึ้นกับสายพันธุ์และปริมาณไพรีทรอยด์ที่รับเข้าสู่ร่างกาย สัตว์ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดไพรีทรอยด์ได้หรือกำจัดได้ไม่ดี มักจะมีอาการที่เกิดจากพิษรุนแรงและอาจถึงตายได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
พิษของไพรีทรอยด์ต่อมนุษย์
ไพรีทรอยด์จัดเป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อมนุษย์น้อย (ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องได้รับสารเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยและคำว่าเป็นพิษน้อยไม่ได้หมายความว่า ไม่เป็นพิษ)
ร่างกายของมนุษย์สามารถรับไพรีทรอยด์ผ่านทางการหายใจและผิวหนังได้ง่ายและบ่อยที่สุด เพราะลักษณะการใช้งานของเรามักจะเป็นไปในรูปแบบของการฉีดพ่น เช่น พ่นเพื่อกำจัดแมลงในไร่ผลไม้ ฉีดเพื่อฆ่ายุง มด ปลวกและแมลงสาบ จึงมีโอกาสที่จะสูดดมและมีละอองของสเปรย์สัมผัสผิวหนังได้ง่าย
ส่วนการรับสารไพรีทรอยด์ผ่านทางการบริโภคหรือการกินเข้าไปมีความเป็นไปได้ โดยการกินอาหารที่สารไพรีทรอยด์ตกค้าง เช่น ผัก ผลไม้ เป็นต้น
ร่างกายของมนุษย์มีความสามารถและมีกลไกในการจำกัดสารไพรีทรอยด์ผ่านทางตับและไตได้ดี ส่งผลให้ไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่อมนุษย์ต่ำในลักษณะของการใช้งานทั่วไป เช่น การฉีดหรือพ่นเพื่อกำจัดแมลงในบ้าน จึงไม่ปรากฏอาการผิดปกติหรือความเจ็บป่วยรุนแรงที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้ไพรีทรอยด์ในกรณีใช้งานทั่วไปจะมีผลต่อร่างกายมนุษย์น้อย แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงกว่าคนทั่วไป ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์หรือคนวัยผู้ใหญ่ที่ได้รับสารไพรีทรอยด์แบบซ้ำๆที่จะเกิดอาการเซลล์ประสาทตาย เนื่องจากประสิทธิภาพการกำจัดพิษของไพรีทรอยด์ของคนทั้งสองกลุ่มลดลง โดยเฉพาะในกรณีของสตรีมีครรภ์ที่พิษของไพรีทรอยด์จะมีผลต่อเด็กในครรภ์ในลักษณะการเกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาท
พิษของไพรีทรอยด์ต่อน้องหมา
โดยปกติแล้วสุนัขจะมีความทนทานต่อไพรีทรอยด์ได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไพรีทรอยด์มีผลเสียต่อสุขภาพของสุนัขเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ความเป็นพิษจะเกิดขึ้นกับสุนัขได้ ตัวสุนัขเองต้องได้รับสารไพรีทรอยด์ในปริมาณที่มากพอ โดยมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
- ยาฉีดพ่นกำจัด มด ยุง แมลงสาบ ในบ้านเรือน (ได้รับผ่านทางการหายใจ)
- แชมพูหรือสบู่กำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข (ได้รับผ่านทางผิวหนัง)
- ยาทาผิวสำหรับกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข (ได้รับผ่านทางผิวหนัง)
- ปุ๋ยที่ใช้ปลูกพืชบางประเภทที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ (เราอาจใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชเจริญเติบโต ซึ่งโดยธรรมชาติสุนัขเป็นสัตว์ที่ชอบขุดหลุมอยู่แล้ว เค้าอาจจะขุดหลุมและได้รับสารไพรีทรอยด์ผ่านทางช่องปากหรือการกินโดยไม่ได้ตั้งใจ)
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเกิดพิษของไพรีทรอยด์กับสุนัขของเราแล้ว?
โดยปกติแล้ว ถ้าสุนัขของเราได้รับสารไพรีทรอยด์เกินขนาด มักจะเกิดอาการดังต่อไปนี้ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับสาร
- น้ำลายยืดมากผิดปกติ
- มีอาการไอหรือมีท่าทางเหมือนจะสำลัก คล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ
- อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- มีอาการกระสับกระส่าย
- ตัวสั่น
หรืออาจมีอาการทางผิวหนังต่อไปนี้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่าจะอยู่นานหลายชั่วโมง
- มีอาการคันอย่างรุนแรง สังเกตได้จากสุนัขจะพยายามกัดหลังของตัวเองและมีกิริยาอาการกลิ้งไปมากับพื้นเพื่อเกาให้หายคัน
- น้ำตาไหลหรือส่งเสียงร้องครวญคราง
- เลียอุ้งเท้าบ่อยๆ
- มีอาการชาบริเวณผิวหนังเหมือนมีเข็มหลายๆอันมาทิ่ม (ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า พาเรสทีเซีย Parestesia)
เราควรทำอย่างไร หากน้องหมาของเรามีอาการคล้ายได้รับสารไพรีทรอยด์?
ควรติดต่อคลินิกสัตว์หรือโรงพยาบาลสัตว์เพื่อส่งตัวรักษาแบบฉุกเฉิน
มียาแก้พิษไพรีทรอยด์สำหรับสุนัขหรือไม่?
คำตอบคือ ไม่มี อย่างไรก็ตาม การรักษาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยวิธีเจือจางพิษ เช่น การอาบน้ำน้องด้วยสบู่เพื่อล้างพิษออกจากผิวหนัง การให้ยาต้านอาการชัก การให้ยาคลายกล้ามเนื้อ การวัดอุณหภูมิของร่างกายและการตรวจเลือด ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาทั้งสิ้น การส่งน้องให้ถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็วจะทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายและรอดชีวิตมากขึ้น
เราจะป้องกันน้องหมาจากไพรีทรอยด์ได้อย่างไร?
เพื่อป้องกันการได้รับสารไพรีทรอยด์เข้าสู่ร่างกายโดยไม่ตั้งใจ เราต้องอ่านคำแนะนำสำหรับการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีสารไพรีทรอยด์ผสมอยู่ทุกครั้งก่อนใช้
- ระมัดระวังการใช้ยาหรือแชมพูกำจัดเห็บหมัด ให้เหมาะกับสุนัขของท่านตามสายพันธุ์ ตามน้ำหนักตัว ตามขนาดตัว (น้องตัวเล็กหรือตัวใหญ่)
- เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ทุกชนิดให้มิดชิดและสุนัขเข้าถึงไม่ได้
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่ใช้ในวัตถุประสงค์อื่น มาใช้กับสุนัขโดยเด็ดขาด แม้ว่าความเข้มข้นของไพรีทรอยด์จะอยู่ในระดับต่ำ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุนัขได้
- หากมีการฉีดพ่นยากำจัดแมลงที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ ควรกักให้สุนัขอยู่ห่างๆจากบริเวณที่ฉีดพ่น จนกว่าละอองยาจะหมดไปและแห้งสนิท
- หลีกเลี่ยงแผ่นรองกันมดที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์หรือไพรีทริน (มีส่วนผสมของสารสกัดดอกเบญจมาศหรือดอกเก๊กฮวย)
พิษของไพรีทรอยด์ต่อน้องแมว
ไพรีทรอยด์ถือเป็นสารเคมีอันตรายสำหรับแมว หากร่างกายของแมวได้รับสารไพรีทรอยด์ สารจะอยู่ในร่างกายของแมวเป็นระยะเวลานาน เพราะกลไกหรือระบบร่างกายของแมวกำจัดสารไพรีทรอยด์ได้ไม่ดีเอามากๆ พิษที่อยู่ในร่างกายของน้องแมวนาน จะส่งผลให้มีอาการในรูปแบบต่างๆอย่างรุนแรง แม้จะได้รับสารไพรีทรอยด์เพียงเล็กน้อยก็ตาม
น้องแมวรับสารไพรีทรอยด์ได้อย่างไรบ้าง?

สาเหตุที่พบได้บ่อยมักเกิดจากความผิดพลาดของทาสแมวเอง ทาสแมวบางท่านเข้าใจว่า แชมพูและยากำจัดเห็บหมัดสำหรับน้องหมาสามารถใช้กับน้องแมวได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะทำให้แมวมีอาการแพ้ไพรีทรอยด์อย่างรุนแรง เนื่องจากความเข้มข้นของแชมพูและยากำจัดเห็บหมัดสำหรับน้องหมาอยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ร่างกายของน้องแมวจะรับได้ การใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขกับแมวจึงไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
บ้านของท่านเลี้ยงทั้งน้องหมาและน้องแมว ท่านได้อาบน้ำให้น้องหมาด้วยแชมพูกำจัดเห็บหมัด เสร็จแล้วทาน้ำยากันเห็บหมัดอีกรอบหนึ่ง จากนั้นปล่อยให้น้องหมากับน้องแมวเล่นกัน โดยที่น้ำยากำจัดเห็บหมัดยังไม่แห้ง เหตุการณ์แบบนี้ มีโอกาสที่น้ำยากำจัดเห็บหมัดจากร่างกายของน้องหมาสัมผัสกับร่างกายของน้องแมวและเกิดอันตรายได้
ทาสแมวบางท่านมีการใช้สเปรย์ฉีดฆ่ายุง มดและแมลงสาบที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ หากการฉีดพ่นของท่านไม่ได้กันแมวออกให้ห่าง แน่นอนว่า แมวจะได้รับสายไพรีทรอยด์จากละอองสเปรย์และเป็นอันตรายได้
สมัยนี้มีปลอกคอไล่เห็บหมัดสำหรับสุนัขและแมว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้สารไพรีทรอยด์เป็นสารในการไล่และกำจัดเห็บหมัด โดยผสมสารลงไปในเนื้อของวัสดุ ปริมาณไพรีทรอยด์ที่ใช้สำหรับปลอกคอสุนัขจะมากกว่าแมวเสมอ ดังนั้น หากบ้านท่านเลี้ยงทั้งหมาและแมวและมีปลอกคอไล่เห็บหมัดของทั้งสองแบบแล้ว โปรดระมัดระว้งเวลาใช้งาน อย่าสลับปลอกคอเป็นอันขาด เพราะสารเคมีบนปลอกคอสุนัขนั้นเข้มข้นสูงเกินกว่าที่ร่างกายของแมวจะรับได้
เราจะทราบได้อย่างไรว่า น้องแมวได้รับสารไพรีทรอยด์เกินขนาด?
ถ้าท่านไม่เคยเห็นแมวถูกพิษจากไพรีทรอยด์ให้ดูวีดีโอข้างล่างนี้ครับ (ทาสแมวหรือคนรักแมวใจไม่แข็งอย่าดู น้องยังไม่ได้ไปดาวแมว แต่ดูอาการไม่ค่อยดีนัก)
ภาวะพิษจากไพรีทรอยด์ในแมวเป็นเรื่องซีเรียสและรุนแรงมากกว่าในสุนัขมาก และน้องมีโอกาสเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาการที่บ่งบอกว่าแมวได้รับไพรีทรอยด์เกินขนาด มีดังต่อไปนี้
- มีน้ำลายไหลหรือน้ำลายยืด
- กระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข
- อาเจียน ซึมและเก็บตัว (แอบหลบตามมุมมืด)
- ยืนไม่ตรง เดินโคลง เดินเซ เคลื่อนไหวผิดปกติ ไม่เป็นธรรมชาติ
- ตัวสั่นชักกระตุก
- หายใจลำบาก ติดขัด
- เกิดภาวะตัวเย็นเกินหรือภาวะตัวร้อนเกิน
เราควรทำอย่างไร ถ้าน้องแมวได้รับสารไพรีทรอยด์?
พาน้องแมวของท่านพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด ยิ่งเร็วยิ่งดี การรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้น้องแมวมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น
เราจะป้องกันน้องแมวจากไพรีทรอยด์ได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นกันมดที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์อย่างเด็ดขาด
- ระมัดระวังให้มากก่อนการใช้แชมพูหรือน้ำยากำจัดเห็บหมัดกับน้องแมว ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับแมวเท่านั้น ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์สุนัขกับแมวเด็ดขาด จำไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุนัขสามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตของแมวได้
- เพื่อเป็นการป้องกันน้องแมวได้รับสารไพรีทรอยด์โดยไม่ตั้งใจ ก่อนการใช้งาน ท่านควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์โดยละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปรย์กำจัดแมลง
- ถ้าสุนัขของท่านได้รับการทายากำจัดเห็บหมัดที่ผิวหนัง ท่านควรแยกแมวและสุนัขออกจากกัน 12 -24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่ายาทากำจัดเห็บหมัดแห้งดีแล้ว หรือถ้าจะให้ดีท่านอาจพิจารณาใส่เสื้อให้สุนัขสักระยะ เพื่อป้องกันแมวสัมผัสโดนยาโดยไม่ได้ตั้งใจ
- หากแมวของท่านมีเห็บหมัดจนมีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
พิษของไพรีทรอยด์ต่อสัตว์น้ำ
ไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่อแมวสูง แต่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำมากกว่าแมวหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นปลา ปลาหมึกหรือกระทั่งแมลงที่อาศัยอยู่บนผิวน้ำ เพราะร่างกายของสัตว์น้ำมีความอ่อนไหวต่อไพรีทรอยด์มาก
- ปลาที่อาศัยในเขตหนาวจัดจะมีความอ่อนไหวต่อไพรีทรอยด์มากกว่าปลาที่อาศัยอยู่ในเขตอุ่นมาก
- ไพรีทรอยด์เป็นพิษต่อสัตว์น้ำมากกว่าไพรีทรินถึง 10 เท่า
สิ่งที่เราควรทราบคือ หากเราเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเลี้ยงในตู้หรือในบ่อก็ตาม เราควระมัดระวังการใช้สารไพรีทรอยด์ให้มาก เพราะไพรีทรอยด์ปริมาณเพียงน้อยนิด อาจทำให้สัตว์น้ำตายยกบ่อหรือยกตู้ได้ โดยใช้ข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้
- หากเราเลี้ยงปลาในตู้แล้วมีความจำเป็นต้องฉีดยากันยุงหรือสเปรย์กำจัดแมลงบริเวณที่มีตู้ปลาอยู่ ควรปิดฝาตู้ปลาให้มิดชิด หลังฉีดสเปรย์แล้วควรรอ 2-3 ชั่วโมงให้ละอองสเปรย์ในอากาศหมดไป ค่อยเปิดฝาตู้ปลาได้ตามปกติ
- หากเราเลี้ยงปลาในบ่อนอกบ้าน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ทุกชนิดใกล้กับบ่อปลา เพราะการป้องกันบ่อปลาทำได้ค่อนข้างลำบาก
- หากเราเลี้ยงสุนัขและเลี้ยงปลาในบ่อนอกบ้าน สิ่งที่ควรระวังที่สุด คือ สุนัขของเราทายากำจัดเห็บหมัดแล้วยังไม่แห้งดี เสร็จแล้วกระโดดลงบ่อปลา ยาบนผิวหนังของสุนัขอาจแพร่กระจายและปนเปื้อนในบ่อปลาได้
- ท่านที่เป็นเกษตรกรและมีความจำเป็นต้องใช้ไพรีทรอยด์ เพื่อป้องกันและกำจัดแมลง ท่านควรอ่านคำแนะนำบนฉลากให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะไพรีทรอยด์อาจถูกน้ำชะล้างลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้
ไพรีทรอยด์ ไพรีทริน ไพรีทรัม สารสกัดดอกเก๊กฮวยและเบญจมาศต่างกันอย่างไร?
หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า ไพรีทรอยด์ สารสกัดดอกเก๊กฮวย สารสกัดดอกเบญจมาศ จากการโฆษณาผลิตภัณฑ์กันมดในรูปแบบต่างๆ เช่น แผ่นกันมด เทปกันมด พลาสติกกันมด ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับทุกท่านที่เป็นผู้บริโภค
ผู้เขียนจึงขออนุญาตเป็นผู้ให้ข้อมูลและให้ความกระจ่าง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามนี้
- ไพรีทรอยด์ ไพรีทริน ไพรีทรัม สารสกัดดอกเก๊กฮวยและสารสกัดดอกเบญจมาศ ล้วนเป็นยากำจัดแมลงทั้งสิ้น
- สารสกัดดอกเก๊กฮวยหรือดอกเบญจมาศ จำเป็นต้องใช้ตัวทำละลายที่เป็นของเหลวในการสกัด คำว่าตัวทำละลายคือ ของเหลวที่ทำให้สารสำคัญที่เราต้องการสกัดละลายออกมา
- สารสกัดดอกเก๊กฮวยหรือดอกเบญจมาศที่ได้จากตัวทำละลายจะเรียกว่า ไพรีทรัม
- ไพรีทรัมเป็นสารกำจัดแมลงที่อยู่ในรูปของเหลว
- ไพรีทรัมที่ถูกแยกตัวทำละลายออก เหลือเพียงสารกำจัดแมลงในรูปผงจะเรียกว่า ไพรีทริน
- ไพรีทรัมและไพรีทรินเป็นสารกำจัดแมลงตามธรรมชาติ
- ไพรีทรอยด์เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบไพรีทริน
- ไพรีทรินมีความทนทานต่อแสงแดดและความร้อนน้อย อยู่ในสภาพแวดล้อมได้ไม่นาน ความทนทานและการออกฤทธิ์กำจัดแมลงสั้น อีกทั้งประสิทธิภาพในการจำกัดแมลงต่ำและไม่สม่ำเสมอ จึงมีการสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ขึ้นมาใช้ทดแทน
- ไพรีทรอยด์มีความเข้มข้นสูง ทนต่อแสงแดดและความร้อนได้ดีกว่าไพรีทริน จึงออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดแมลงจึงดีกว่าไพรีทรินถึง 10 เท่า
จากข้อมูลที่ผ่านมาดูเหมือนว่าไพรีทรอยด์จะดีกว่าไพรีทรินมาก อย่างไรก็ตาม ดาบย่อมมีสองคม เหรียญย่อมมีสองด้าน ภายใต้ประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมในการกำจัดแมลงย่อมแฝงมาด้วยความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ที่มีมากเช่นกัน
สรุป
ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการใช้สารไพรีทรอยด์เสียทั้งหมด เพราะสารชนิดนี้มีประโยชน์มากสำหรับประชากรในหลายพื้นที่ของโลกนี้ที่มีปัญหาเรื่องแมลงพาหะนำโรค เช่น ยุง แต่การใช้ไพรีทรอยด์ต้องเป็นไปอย่างจำกัดและระมัดระวัง โดยไม่ให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ในภายหลัง
สำหรับทาสแมวและคนเลี้ยงปลา การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารไพรีทรอยด์ต้องมีความละเอียดรอบคอบระดับสูงสุด เพราะน้องแมวและสัตว์น้ำแพ้สารพวกนี้อย่างรุนแรง หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ถึงตายได้
ในส่วนของมนุษย์และสุนัขที่ร่างกายมีกลไกและระบบในการกำจัดสารไพรีทรอยด์ได้ดี การใช้สารก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเช่นกัน เพราะอย่างไรไพรีทรอยด์ก็คือ ยาฆ่าแมลง แม้การได้รับสารเพียงเล็กน้อยอาจจะยังไม่ปรากฏอาการอะไรในตอนแรก แต่การรับสารซ้ำๆหรือบ่อยๆจนเกิดการสะสมย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ ท่านต้องไม่ใช้สารเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลเสียต่อระบบประสาทของทารกได้
ทางเลือกในการป้องมดมีหลากหลาย ผู้เขียนแนะนำให้ป้องกันมดแบบไร้พิษเสียก่อน หากไม่ไหวจริงๆค่อยพิจารณาใช้สารพิษเป็นลำดับถัดไป จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวท่าน ครอบครัวและสัตว์เลี้ยงได้อย่างดี
อ้างอิง
EPA Addresses Human Health and Ecological Risks Posed by 13 Pyrethroids
Registration Review of Pyrethrins and Pyrethroids
Pyrethrins and Pyrethroids Reregistration and Labeling
Pyrethrin/Pyrethroid Poisoning in Dogs