ที่นอนเป็นมุมสำคัญสำหรับการพักผ่อนนอนหลับ เป็นมุมที่เจ้าของบ้านใช้เวลาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของวันหรือวันละ 8 ชั่วโมง ที่มุมนั้นเป็นประจำทุกวัน ปัญหามดขึ้นที่นอน ขึ้นฟูกหรือขึ้นเตียง จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะการนอนหลับพักผ่อนเป็นเรื่องที่มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต การนอนไม่พอ นอนหลับไม่สนิท มีผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทรุดโทรมและทำให้สมองเบลอ ส่งผลให้เราทำงานหรือเรียนหนังสือได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
7 ขั้นตอนในการจัดการปัญหามดขึ้นที่นอน ขึ้นเตียง
ผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้อ่านทดลองทำตามคำแนะนำทีละขั้นตอนจนครบทุกข้อ เชื่อมั่นว่าปัญหามดจะทุเลาเบาบางลงไปหรือหมดไปได้ (ถ้าทำได้ครบทุกข้อ)

1. ไม่นำอาหารขึ้นไปกินบนที่นอน
มดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเอาตัวรอดด้วยปัจจัยต่างๆคล้ายกับคน คือ หลักๆต้องมีน้ำ อาหารและที่อยู่อาศัย ส่วนมากแล้วมดจะเข้าหาแหล่งน้ำและอาหารที่อยู่ใกล้รังตามสัญชาตญาณ ถ้าเรานำอาหารไปทานบนเตียง แน่นอนว่าจะต้องมีเศษอาหารตกหล่นอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุทีทำให้มดขึ้นมากินอาหารบนที่นอนของเรา

2. จัดการกันมดมุมของกินในห้องนอนให้เรียบร้อย
ห้องนอนของหลายท่าน อาจจะมีมุมวางขนม ของกินและน้ำอยู่ เพราะในห้องนอนอาจมีมุมพักผ่อน ดูทีวีหรือมีโต๊ะทำงานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นจุดดึงดูดหรือล่อมดเข้าสู่ห้องนอนของท่านได้เป็นอย่างดี ทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้อาจไม่ใช่การนำของกินและน้ำออกจากห้องไปให้หมด แต่เป็นการป้องกันมดไม่ให้มดเข้าถึงอาหารและน้ำในห้องนอนของท่านได้ ปัจจุบันมีแผ่นรองกันมด ที่สามารถใช้กันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100% เพียงวางน้ำและอาหารที่ต้องการกันมดไว้บนแผ่นรองกันมดเท่านั้น

3. ดูแลความสะอาดของผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม
ซักเครื่องนอนทั้งหมดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เป็นการรักษาความสะอาดและช่วยลดโอกาสการสะสมอาหารมด ที่เกิดจากร่างกายของเรา เช่น เหงื่อ เศษผิวหนัง เป็นต้น (หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากของหวานๆและน้ำตาลแล้ว มดชอบกินโปรตีนมาก)

4. หาจุดที่มดเข้าห้องนอนของเรา
หากท่านสังเกตให้ดีจะพบว่า เวลมดเดินจะเดินเป็นเส้นและมีทางเดินที่ชัดเจน วันดีคืนดีหากมีมดมาขึ้นที่นอนของเรา ก่อนที่ท่านจะปัดกวาดหรือไล่มดออกไป สิ่งที่ควรทำ คือ การตรวจสอบเส้นทางเดินของมด ท่านลองไล่ย้อนไปเรื่อยๆ ท่านจะพบจุดที่มดเข้าห้องของท่าน จากนั้นให้หาวิธีปิดเส้นทางนั้นเสีย
จุดที่มดมักใช้เดินเข้าห้อง มักจะเป็นซอก ร่อง รอยแยก รอยแตก ถ้าเจอแล้วให้ใช้ซิลิโคนกันรั่วกันซึมปิดช่องทางเหล่านี้ไว้ การแก้ปัญหาด้วยวิธีการปิดทางเดินของมดอาจได้ผลดีแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ขึ้นกับกองทัพมดที่เรากำลังต่อสู้ด้วย โดยปกติแล้วถ้าทางเดินเข้าห้องนอนของเราถูกปิดและในห้องยังมีอาหารและน้ำที่มดเข้าถึงได้อยู่ มดจะพยายามหาทางใหม่ เพื่อเข้าห้องนอนของเราให้ได้ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องสู้กับมดอีก 2-3 ครั้ง กว่ามดจะยอมแพ้และไม่กลับมาที่ห้องนอนของเราอีก อย่างไรก็ตามหากมดรู้อีกครั้งว่า มีน้ำและอาหารที่เข้าถึงได้ อยู่ในห้องนอนของท่าน มดก็อาจจะกลับมาใหม่ได้


5. ป้องกันมดขึ้นที่นอนด้วยเจลกันมดปลอดภัย
ดูเหมือนวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ตรงประเด็นที่สุด เพราะเป็นการป้องกันมดขึ้นที่นอนโดยตรง แต่ในความเป็นจริง ทุกวิธีที่กล่าวมาทั้งหมด สำคัญพอๆกันและต้องทำทุกข้อประกอบกัน จะช่วยไล่มดออกจากห้องนอนของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีนี้เตียงที่ใช้จำเป็นต้องมีขา หากท่านใดต้องปูฟูกหรือที่นอนบนพื้น ท่านจะเป็นต้องซื้อเตียงรุ่นที่มีขาเพิ่มเติม หรือหากท่านมีเตียงอยู่แล้ว แต่เป็นแบบไม่มีขาท่านมีความจำเป็นต้องเลือกซื้อขาตั้ง มาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถทาเจลกันมดที่ขาเตียงได้
การทาเจลกันมดที่ขาเตียง เราจะทาสูงจากพื้นขึ้นไป จะไม่ทาใกล้ๆพื้น เพราะจุดทาเจลกันมดที่อยู่ต่ำเกินไป ระยะเวลาการกันมดจะสั้นลง เนื่องจากฝุ่นจับ ดังนั้น ขาเตียงไหนยิ่งมีความสูงก็จะยิ่งกันมดได้ยาวนาน
เพิ่มเติมหน่อยนึง สำหรับผู้ที่มีคนไข้ติดเตียงนอนอยู่ที่บ้านและนอนบนเตียงที่มีล้อเลื่อน คล้ายกับเตียงที่โรงพยาบาล ท่านสามารถใช้เจลกันมดทาที่ตัวฝาครอบและข้อต่อของล้อเลื่อนเพื่อกันมดได้ทันทีเช่นกัน

6. ใช้ที่รองขาเตียงกันมด
กรณีสำหรับเตียงที่ไม่มีขาและเราไม่สามารถใช้เจลกันมดทาป้องกันมดได้สะดวก ทางเลือกที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ที่รองกันมดรองตามมุมหรือจุดรับน้ำหนักต่างๆของเตียงนอนให้ครบทุกจุด
ที่รองกันมดสำหรับรองเตียงที่ดีต้องรับน้ำหนักได้มาก มีความเสถียร วางได้มั่นคงเวลาใช้งาน ไม่ลื่น ไม่ไถล ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก
7. ย้ายตำแหน่งของที่นอนใหม่
ถ้าจุดที่มดเข้าห้องนอนอยู่ใกล้เตียงนอนหรือที่นอนของท่านหรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ท่านนอนอยู่ใกล้รังมด” จะมีโอกาสสูงมากที่เวลามดเข้าห้องนอนของท่าน มดจะแวะเยี่ยมที่ที่นอนของท่านก่อน ดังนั้น การย้ายตำแหน่งที่นอนให้ห่างจากรังมด จึงเป็นวิธีช่วยลดความรุนแรงของปัญหามดขึ้นที่นอนได้ เพราะธรรมชาติของมดไม่ชอบอาหารไกลๆ หากมีแหล่งอาหารตรงไหนใกล้ๆมดจะเลือกไปตรงนั้นก่อน
หากเตียงนอนของท่านวางชิดกำแพง ให้ท่านขยับเตียงห่างออกจากกำแพงอย่างน้อย 2 นิ้วหรือมากกว่านั้นก็ได้ เพราะมดสามารถใช้กำแพงเป็นสะพาน เดินมาเยี่ยมท่านถึงที่เตียงได้อย่างสบายๆ
สรุป
การแก้ปัญหาและการป้องกันมดขึ้นที่นอนหรือเตียงนอน หากเราทำหลายๆวิธีร่วมกัน จะช่วยให้ประสิทธิภาพการกันมดสูงสุด เปรียบเทียบได้กับการมีกำแพงป้องกันมดหลายชั้น อย่างไรก็ตาม หากท่านทำวิธีป้องกันมดได้ไม่ครบทุกข้อ ข้อทีท่านต้องทำให้ได้ คือ การป้องกันมดขึ้นเตียงด้วยเจลกันมดปลอดภัย เพราะที่นอนเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนมดเข้าถึงตัวท่าน และการป้องกันมดเข้าถึงอาหารและน้ำที่ท่านนำเข้ามาในห้องนอนของท่านด้วยแผ่นรองกันมด เพราะถ้าปราศจากน้ำและอาหารแล้ว มดไม่มีเหตุผลที่จะเข้ามาในห้องนอนของท่านเลย
ทั้งหมดที่เขียนเล่า มาจากประสบการณ์ตรงของคนที่เคยโดนมดกัดตอนนอน และมดบุกห้องอย่างหนัก แต่ก็ใช้วิธีเหล่านี้ในการแก้ปัญหาจนมดยอมแพ้และหนีไปเองครับ