ปัญหามดขึ้นบ้าน เรื่องใหญ่สำหรับหลายท่าน เพราะมดสร้างความรำคาญได้มาก ขึ้นอาหาร น้ำ ห้องน้ำ ผ้าเช็ดตัว ห้องครัวยันห้องนอน
บทความนี้จะให้ข้อมูลเทคนิคการไล่มดและป้องกันอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงแค่เล่าว่าใช้สารกันมดชนิดใด แบบที่บทความส่วนมากเล่าซ้ำไปซ้ำมาเหมือนๆกัน
สาเหตุมดขึ้นบ้านที่แท้จริง?
หลักการที่ใช้ได้ตลอดคือ มดต้องการ 3 อย่างที่หาได้ในบ้านเรา อันได้แก่
- อาหาร
- น้ำ
- ที่อยู่
มดมีความต้องการพื้นฐานเหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไปในระดับเดียวกัน เช่น สัตว์ป่ากะมีความต้องการ 3 อย่าง อาหาร น้ำและที่อยู่ ส่วนมนุษย์ก็จะมี อาหารและน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค
หากบ้านของเรามีสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตมดได้ แน่นอนว่ามดจะต้องขึ้นบ้านเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง
2 ขั้นตอนไล่มดและป้องกันมดขึ้นบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ
การไล่มดออกจากบ้านสำเร็จเป็นผลสืบเนื่องจากการป้องกันมด คำว่าป้องกันมดในที่นี้ หมายถึง การขัดขวางและป้องกันการเข้าถึง อาหาร น้ำและที่อยู่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมดทั้งหมด
ถ้าเราป้องกันไม่ให้มดได้ปัจจัยที่ต้องการ มดจะอยู่ในบ้านไม่ได้และไม่มีเหตุผลที่มดจะขึ้นบ้านแบบหนักๆ ถ้าเราป้องกันมดได้ดี จะไม่มีมดขึ้นเป็นกองทัพสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ อาจจะมีเพียงมดงานไม่กี่ตัว เดินเข้ามาสำรวจหาปัจจัยภายในบ้าน หากเราไม่เปิดช่องให้มดได้ปัจจัยเลย มดก็จะค่อยๆหายไปเอง โดยที่เราไม่ต้องเอายาฆ่าแมลงไปไล่ฉีดเลย
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เพื่อการไล่มดและป้องกันมดขึ้นบ้านให้ได้ผลดีที่สุด
1. ป้องกันมดขึ้นน้ำ อาหารและที่ทำรังมด โดยเลือกใช้อุปกรณ์และสารไล่มดที่เหมาะสม
เราจำเป็นต้องสำรวจจุดเสี่ยงที่มดจะขึ้นและป้องกันไม่ให้มดขึ้นจุดเหล่านั้นให้ได้ ท่องไว้ว่า กันได้หมดมดจะไม่มา เพราะมาแล้วไม่ได้อะไรเลย
วิธีป้องกันมดสำหรับแต่ละปัญหาหรือหน้างาน ใช้อุปกรณ์กันมดที่มีรูปร่างและลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันออกไปก็ได้ ผู้เขียนพยายามรวบรวมกรณีมดขึ้นและอุปกรณ์กันมดที่เหมาะสมมาให้ดูเป็นตัวอย่างให้ได้มากที่สุด ดังต่อไปนี้
- มดขึ้นข้าวสาร ใช้กล่องสุญญากาศใส่ข้าว
- มดขึ้นโต๊ะอาหาร น้ำหนักมาก ใช้เจลกันมดปลอดภัย ทาที่ขาโต๊ะ
- มดขึ้นโต๊ะขนาดเล็ก ใช้ที่รองขาโต๊ะกันมดหรือใช้เจลกันมดทาขาโต๊ะ
- มดขึ้นตู้กับข้าว ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาขาตู้
- มดขึ้นกรงสัตว์แบบมีล้อเลื่อน ใช้เจลกันมดทาที่ข้อต่อล้อเลื่อน
- มดขึ้นกรงแบบแขวน ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาที่ตะขอกรง
- มดขึ้นกรงชูการ์ไกลเดอร์ ใช้ที่รองกันมดรองกรงสี่มุม
- มดขึ้นกรงหนูแฮมสเตอร์ ใช้ถาดรองกันมดสำหรับกรงเล็ก ใช้ที่รองกันมดสำหรับกรงใหญ่
- มดขึ้นถังขยะ ใช้แผ่นรองกันมดหรือถาดกันมด
- มดขึ้นถังขยะเปียก บริเวณที่มีความเปียกชื้น ใช้ที่รองกันมด
- มดขึ้นเหยือกน้ำ ใช้ถาดรองกันมด
- มดขึ้นแก้วน้ำ ใช้แผ่นรองกันมดหรือที่รองกันมด
- มดขึ้นกาน้ำร้อน ใช้แผ่นรองกันมด
- มดขึ้นเคาน์เตอร์ ให้แยกอาหารที่มดขึ้น วางไว้บนถาดกันมดบนเคาน์เตอร์
- มดขึ้นตู้เก็บของแห้ง ใช้ที่รองขาโต๊ะกันมดหรือใช้เจลกันมดปลอดภัยทาที่ขาตู้
- มดขึ้นโน้ตบุ๊ค ใช้ที่รองขาโต๊ะกันมดหรือใช้เจลกันมดปลอดภัยทาที่ขาโต๊ะ
- มดขึ้นเตียงนอน ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาขาเตียง
- มดขึ้นผู้ป่วยติดเตียง ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาที่ข้อต่อล้อเลื่อน
- มดขึ้นผ้าเช็ดตัว ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาขาราวตากผ้า
- มดขึ้นปลั๊กไฟ ใช้เจลกันมดทาผนังล้อมปลั๊กไฟหรือทาล้อมปลั๊กไฟโดยตรง
- มดขึ้นชักโครก ใช้เจลกันมดทาล้อมฐานและทอนำน้ำ
- มดขึ้นอ่างล้างหน้า ใช้เจลกันมดทาล้อมผนังที่ยึดกับอ่างล้างหน้า
เท่าที่นึกออกมีประมาณนี้และจะอัพเดตให้เรื่อยๆเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม ถ้ากันไมให้มดขึ้นได้ตามนี้ ก็สามารถไล่มดออกจากบ้านได้อย่างแน่นอน
ผู้เขียนได้ทำลิ้งค์ไว้ให้แล้ว หากผู้อ่านต้องการข้อมูลแบบละเอียด คลิกที่ลิ้งค์สีฟ้าได้เลยครับ!
หากท่านผู้อ่านมีคำถามเพิ่มเติมหรือมีปัญหาการกันมดที่แปลกและแตกต่างไปจากนี้ ติดต่อผ่านไลน์เข้ามาสอบถามได้ตลอดครับ (เราสามารถคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้)
2. ปิดกั้นหรือขัดขวางช่องทางที่มดเข้าบ้านด้วยสารไล่มด
จริงๆแล้วขั้นตอนนี้จะทำหรือไม่ทำก็ได้ หากเราทำขั้นตอนที่ 1 สมบูรณ์ดีขั้นตอนที่ 2 นี้อาจไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม บางท่านไม่อยากให้มดเดินเข้ามาในบ้านเลย ขั้นตอนนี้จะจำเป็นขึ้นมาทันที แต่ผู้เขียนขอแชร์ว่าอาจจะต้องขยันทำบ่อยๆและใช้สารกันมดจำนวนมากประมาณหนึ่ง เพราะเราต้องสร้างแถบกันมดในช่องทางที่มดเดินผ่านเข้าบ้านของเรา
เราสามารถสร้างแถบกันมดได้หลายวิธี โดยใช้สารไล่มด สารแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและเทคนิคการใช้ที่แตกต่างกันออกไป
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างและจำลองสถานการณ์การใช้งานสารไล่มดป้องกันมดขึ้นบ้าน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้และนำข้อมูลไปใช้แก้ปัญหาได้จริง
2.1 กันมดเข้าบ้านทางหน้าต่างและประตู
สารไล่มดที่แนะนำให้ใช้และวิธีการใช้
น้ำมันหอมระเหยผสมน้ำ
ผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำธรรมดาในสัดส่วนที่มดที่บ้านท่านกลัว อาจจะทดลองที่อัตราส่วนน้ำมันหอมระเหยต่อน้ำ 15 หยดต่อน้ำ 60 มิลลิลิตร พยายามให้มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยแรงหน่อย ถ้ากลิ่นเบาบางมดและไม่กลัว เราอาจเพิ่มจำนวนหยดของน้ำมันหอมระเหยเป็น 25-30 หยดแทน
ใช้ฉีดพ่นบริเวณกรอบประตูหรือกรอบหน้าต่างที่มดเดินเข้าบ้าน
มดสื่อสารกันด้วยกลิ่นหรือฟีโรโมน หากมีกลิ่นแรงกลบฟีโรโมนมดจะสื่อสารกันมดไม่ได้และไม่เข้าใกล้บริเวณที่พ่นน้ำมันหอมระเหย
ข้อดี
- ทำใช้เองได้ง่าย
- ประหยัด ราคาถูก
- ใช้งานได้บนพื้นที่ใหญ่ๆแบบไม่เปลือง
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ เพราะน้ำมันหอมระเหยได้จากพืชธรรมชาติ
- เลือกกลิ่นที่เราชอบได้ แต่มดเกลียดทุกกลิ่นที่มีความหอมรุนแรง
ข้อเสีย
- ป้องกันมดด้วยกลิ่นหอมธรรมชาติ กลิ่นหมดมดจะมาเหมือนเดิม
- ระยะเวลากันมดสั้น ต้องฉีดพ่นซ้ำ 1-2 สัปดาห์
- ใช้เวลาในการซ่อมบำรุงเยอะหรือฉีดพ่นซ้ำบ่อย
ชอล์กไล่มด
ชอล์กไล่มดมีทั้งแบบธรรมดาที่ไม่ผสมยาฆ่าแมลงและแบบที่ผสมยาฆ่าแมลง
ชอล์กไล่มดธรรมดาคือ ชอล์กที่ใช้เขียนกระดานดำทั่วไปใช้กันมดได้แต่ประสิทธิภาพจะสู้แบบที่ผสมยาฆ่าแมลงไม่ได้ ดังนั้น คนส่วนมากจึงเลือกที่ใช้ชอล์กไล่มดแบบอัพเกรดที่ผสมยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่มดและป้องกันมด
ใช้ขีดเป็นแถบบนกรอบหน้าต่างหรือกรอบประตู ป้องกันมดเดินผ่าน มดจะเดินผ่านชอล์กไล่มดไม่ได้
ข้อดี
- ราคาถูกมากหาซื้อได้ง่าย
- มีขายทั่วไป
- สะดวก ใช้งานสุดๆ เพียงขีดชอล์กเป็นแถบบริเวณที่ไม่อยากให้มดเดินผ่าน
- ใช้ขีดกันมดบนพื้นที่ใหญ่ได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าชอล์ก
ข้อเสีย
- ชอล์กที่กันมดได้ดีมักมีส่วนผสมของยาฆ่าแมลงที่อาจเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์
- ความทนทานหรือระยะเวลาในการกันมดสั้น เพราะมีเนื้อเป็นผง หลุดลอกได้ง่าย
- เนื้อเป็นฝุ่นผงจึงฟุ้งกระจายได้ง่าย มีความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนลงสู่อาหารและน้ำโดยไม่ตั้งใจ
- จำเป็นต้องขีดซ้ำๆหรือซ่อมบำรุงบ่อย เพื่อคงประสิทธิภาพในการไล่มดและกันมด
เทปกันมด
เทปกันมดเป็นนวัตกรรมการไล่มดที่ใช้ยาฆ่าแมลงผสมเข้าไปในเนื้อเทป มดจะไม่เดินผ่านเทปเพราะยาฆ่าแมลงในเทปจะทำให้มดตาย ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับชอล์กกันมดผสมยาฆ่าแมลง
ใช้แปะติดบริเวณกรอบประตูหรือกรอบหน้าต่างเป็นแนวยาว เพื่อไล่มด ป้องกันมดเดินผ่าน
ข้อดี
- ราคาจับต้องได้
- ไม่เป็นฝุ่น ไม่ฟุ้งกระจาย ลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนลงสู่อาหารและน้ำได้ดีกว่าชอล์กไล่มด
- ใช้งานง่าย กำหนดขอบเขตการไล่มดด้วยการใช้เทปตีเส้น ทำเป็นแถบกันมด
- ระยะเวลากันมดยาวนานพอควรอาจจะถึง 1 ปี ถ้าใช้ในร่ม ไม่ถูกแสงแดด
- ประหยัดเวลาในการดูแล ซ่อมบำรุงน้อย
ข้อเสีย
- ประสิทธิภาพการไล่มดและกันมดลดลง เมื่อโดนแสงแดดและน้ำ
- มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลงจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ใช้ให้ไกลจากอาหารและน้ำ
- การกำจัดเทปต้องทำอย่างถูกวิธี เพราะยาฆ่าแมลงในเทปเป็นอนตรายต่อสัตว์น้ำมาก ห้ามทิ้งลงแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด
เจลกันมดปลอดภัย
เจลกันมดเป็นนวัตกรรมการไล่มดและกันมดแบบใหม่ ที่มีความปลอดภัยต่อคนและสัตว์สูงเป็นพิเศษ ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารพิษหรือยาฆ่าแมลง ไล่มดและกันมดโดยใช้หลักการขัดขวางมดเดินทางกายภาพ พื้นผิวที่ทาเจลกันมดจะทำให้มดเดินผ่านได้อย่างยากลำบาก มดจึงหลีกเลี่ยงที่จะใช้เส้นทางที่มีเจลกันมดทาขวางอยู่เสมอ
ใช้ทาเป็นแถบกว้างประมาณ 1 นิ้ว บริเวณกรอบประตูหรือกรอบหน้าต่าง
ข้อดี
- ความปลอดภัยสูงระดับเกรดอาหาร
- ดีที่สุดในตลาดผลิตภัณฑ์กันมดไร้สารพิษและยาฆ่าแมลง
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ 100%
- หมาแมวเลียไม่เป็นไร
- สะดวกใช้งานง่าย เพียงทาพื้นที่ที่ต้องการกันมดก็กันมดได้ทันที
- มีความทนทานต่อความชื้นและน้ำ ติดทนนาน
- หากใช้อย่างเหมาะสมจะมีระยะเวลากันมดยาวนาน 1-2 ปี
- ประสิทธิภาพการกันมดสูง
- ใช้ทาได้กับพื้นผิวหลายประเภท เช่น โลหะ สแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก ไม้ทำสีแล้ว จึงมีความเหมาะสมกับการทาลงบนพื้นผิวของอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ได้โดยตรง โดยไม่ทำให้พื้นผิวเสียหาย
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะกับพื้นผิวที่เป็นยาง ไม้ไม่ได้ทำสีหรือปูนไม่ได้ทาสี เพราะความทนทานและอายุการใช้งานสั้น
- พื้นที่ทาเจลที่เปิดโล่งและมองเห็นได้ด้วยตา เช่น กำแพง กรอบประตู กรอบหน้าต่าง อาจดูเลอะเทอะสำหรับผู้ที่ต้องการความสวยงามเรียบร้อย
- ถ้ามีการทาบนพื้นอาจมีคนและสัตว์เลี้ยงเดินเหยียบเจลกันมด ส่งผลให้ติดเท้าและเลอะเทอะพื้นที่อื่นในบ้านได้
ที่ผู้เขียนแนะนำสารไล่มดทั้ง 4 ชนิดนี้ เพราะเราสามารถใช้สร้างแถบกันมดเดินได้ทุกระนาบ ไม่ว่าจะเป็น
- กรอบประตูหรือหน้าต่างในแนวพื้น
- กรอบประตูหรือหน้าต่างในแนวเพดาน
- กรอบประตูหรือหน้าต่างแนวตั้งด้านซ้าย
- กรอบประตูหรือหน้าต่างแนวตั้งด้านขวา
สารไล่มดที่ได้คัดเลือกมาสามารถใช้ได้ในทุกระนาบแบบไม่มีปัญหา
หากเราเลือกใช้สารไล่มดที่มีลักษณะเป็นผง เช่น แป้ง ผงชัน ดินเบา เราจะสามารถกันได้ในระนาบเดียวเท่านั้น คือ กรอบประตูหน้าต่างในแนวพื้น ไม่สามารถใช้ในแนวเพดาน แนวตั้งด้านซ้ายและแนวตั้งด้านขวาได้ เพราะสารไล่มดแบบผงไม่สามารถยึดเกาะกับผิววัสดุในแนวเพดานและแนวตั้งได้
การแบ่งพื้นที่ใช้สารไล่มด
ไม่ว่าจะมดเดินผ่านทางหน้าต่างหรือประตู หากมีความจำเป็นต้องทำ เราต้องแบ่งโซนในการใช้สารไล่มด เพื่อประหยัดทรัพยากรหรือไม่ใช้สารไล่มดมากเกินความจำเป็น ช่วยให้ประหยัดค่าสารไล่มด เวลาในการเติมสารซ้ำหรือการซ่อมบำรุง


ส่วนตัวแล้วผู้เขียนจะแบ่งโซนของกรอบประตูและหน้าต่างออกเป็นส่วนๆตามรูป ได้แก่
- โซน 1 ด้านล่าง สีแดง
- โซน 2 ซ้าย (2L) สีน้ำเงิน
- โซน 2 ขวา (2R) สีน้ำเงิน
- โซน 3 ด้านบน สีเหลือง
- โซน 4 ด้านซ้าย (4L) สีชมพู
- โซน 4 ด้านขวา (4R) สีชมพู
เวลามดเข้าบ้าน มดจะเดินเป็นแถวเพียงแถวเดียวและผ่านทีละโซน การใช้สารไล่มดจะทำไปทีละโซนตามทางเดินมดเท่านั้น ปกติแล้ว ถ้ามีการทำแถบกันมดตรงโซนไหนแล้วมดเดินผ่านไม่ได้ มดจะพยายามหาทางใหม่
มดอาจมีการเปลี่ยนโซนในการเดินหรือเปลี่ยนช่องทางใหม่ไปเลย เช่น เปลี่ยนจากเข้าบ้านทางหน้าต่างเป็นเข้าทางประตู หากเราต้องการป้องกันมดขึ้นบ้าน เราต้องไล่ตามไปทำแถบกันมดโดยใส่สารไล่มดปิดกั้นทางเดินของมดไปเรื่อยๆ จนกว่ามดจะยอมแพ้ไปเอง
โดยหลักการ มดจะไม่ยอมแพ้ หากปลายทางมีอาหาร น้ำหรือที่อยู่ ดังนั้น ถ้าเราไม่ป้องกันการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ของมดแต่แรก เราอาจจะต้องสู้กับมดไปเรื่อยๆแบบไม่มีวันชนะ อย่าลืมว่าช่องทางเข้าบ้านของมดมีเยอะมาก มดไม่จำเป็นต้องเข้าทางประตูหรือหน้าต่างก็ได้ อาจจะเข้าทางช่องลม รอยแตกตามกำแพง รอยแตกตามพื้น ที่เราไม่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ
ดังนั้น ลำดับในการไล่มดและป้องกันมดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำข้อ 1 ป้องกันอาหารน้ำและที่อยู่ ก่อนถึงจะมาพิจารณาทำข้อ 2 ปิดกั้นทางเดิน ทำผิดขัันตอนมดจะมาไม่รู้จบและแก้ปัญหาไม่ได้
2.2 กันมดเข้าบ้านผ่านทางผนังแตกร้าว

นอกจากประตูและหน้าต่างแล้ว ช่องทางที่มดใช้เข้าบ้านของเราได้แบบเนียนๆโดยที่เราไม่รู้ตัว คือ ผนังแตกร้าว
ผนังแตกร้าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปทุกบ้าน กำแพงส่วนมากสร้างขึ้นจากปูนซีเมนต์ที่เป็นวัสดุมีรูพรุน หากมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิซีเมนต์อาจมีการหดหรือขยายตัว ส่งผลให้เกิดร้อยร้าวหรือรอยแยกตามจุดต่างๆในบ้านได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผนังแตกร้าวได้คือ การต่อเติมบ้านโดยไม่ได้คำนวณและตรวจสอบการรับแรงที่โครงสร้างเดิม ผู้ที่ไม่ทราบอาจจะคิดว่าการต่อเติมบ้านเป็นเรื่องง่ายที่คนปกติทั่วไปทำกัน
โดยข้อเท็จจริงแล้ว การต่อเติมบ้านเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพราะการต่อเติมคือการใส่น้ำหนักเข้าไปทีตัวบ้านเพิ่ม หากโครงสร้างเก่ารับแรงไม่ได้ มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดรอยแยกขนาดน้อยใหญ่ทั่วบ้าน เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นบ้านทรุดบ้านพังได้ ถ้าเป็นกรณีนี้ให้แก้ปัญหาเรื่องบ้านก่อนเรื่องมดจะเหมาะสมกว่าครับ
มีผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ซีลปิดหรือยาแนวผนังแตกร้าว โดยมีส่วนผสมของซิลิโคน ยูรีเทนหรือแม้กระทั่งเป็นซีเมนต์เลยก็มี สามารถใช้อุดรอยแตก ใช้ยาแนวหรือใช้ซ่อมรอยแตกได้ มีทั้งแบบทาสีทับได้และทาสีทับไม่ได้
ก่อนซื้อใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าเราต้องการนำไปใช้บริเวณไหนของบ้านเพราะผนังแตกร้าวเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น รอยร้าวผนัง รอยร้าวข้างเสา รอยร้าวจากคานถึงกลางผนัง ซึ่งอาจจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับซ่อมแซมต่างกัน ถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือเอาให้ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างดูก็จะช่วยให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
หลังจากที่เราปิดรอยแยกกำแพงได้ มดจะเข้าบ้านผ่านช่องนี้ไม่ได้ ช่วยลดช่องทางและลดความเสี่ยงที่มดจะเข้าบ้านของเราได้
กรณีศึกษาการไล่มดและป้องกันสำหรับตู้เก็บอาหารแห้งในครัว


ตอนแรกมดเดินเข้ามาที่โซน 1 สีแดง ใช้เจลกันมดทาเฉพาะโซนหนึ่งเท่านั้น พอมดเดินผ่านไม่ได้ มดหาทางใหม่ กรณีที่เจอคือ มดเปลี่ยนเส้นทางเดินจากหน้าต่างมาเข้าทางประตูบริเวณโซน 1 แทน แต่ผู้เขียนไม่ได้ป้องกันเพิ่มเติม ปล่อยให้มดเดินเข้ามาเลย แต่ไปเน้นป้องกันปลายทางที่มดไป ซึ่งเป็นตู้เก็บอาหารแห้งและเครื่องปรุง โดยไล่ดูตามทางมดเดิน
สิ่งที่พบคือ มดเข้าไปในตู้จำนวนมากและเหมือนเริ่มจะทำรังในตู้แล้ว ผู้เขียนเลยเคลียร์ตู้โดยการนำอาหารแห้งทุกอย่างออกจากตู้เพื่อทำความสะอาดและไล่มดออกจากตู้ จากนั้นก็ใช้เจลกันมดปลอดภัยทาที่ขาตู้เพื่อป้องกันไม่ให้มดขึ้นตู้ได้อีก (หากท่านต้องการความเรียบร้อยสามารถใช้ที่รองกันมดแทนได้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก ที่รองขาโต๊ะขาตู้กันมด)
หลังจากที่ไล่มดและป้องกันมดที่ตู้เก็บอาหารแห้ง มดที่เดินอยู่เป็นขบวนก็ลดจำนวนลงและค่อยๆหายไปจนหมดภายใน 2-3 วัน จะเห็นว่าการป้องกันมดขึ้นน้ำ อาหารและที่ทำรังมด โดยเลือกใช้อุปกรณ์และสารไล่มดที่เหมาะสม เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุแท้จริง ส่วนการปิดกั้นมดเข้าบ้านเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
สรุป
มดขึ้นบ้านเพราะในบ้านมีปัจจัยในการดำรงชีวิตที่มดต้องการ คือ อาหาร น้ำและที่อยู่
การไล่มดทีสมบูรณ์แบบต้องทำ 2 ขั้นตอน คือ หนึ่งป้องกันอาหาร น้ำและที่อยู่ สองปิดกั้นและขัดขวางช่องทางที่มดเข้าบ้าน
การไล่มดที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ เกิดจากการป้องกันมดเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตในบ้านของเรา เป็นการแก้ป้ญหาที่ต้นเหตุ
พยายามป้องกันมดเข้าถึง อาหาร น้ำและที่อยู่ให้ได้หลายจุดมากที่สุด ยิ่งป้องกันได้ครอบคลุมยิ่งไล่มดได้ดี
เลือกใช้สารไล่มดได้ตามสะดวก เน้นว่าไม่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง จะปลอดภัยต่อคนและสัตว์ที่สุด