ทุกชีวิตต้องการน้ำเพื่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ น้ำเป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ บางฤดูกาลมีมากจนเกินความต้องการจนเกิดน้ำท่วม บางฤดูกาลมีน้อยจนแห้งแล้ง น้ำไม่พอใช้ ขึ้นกับภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วยฝีมือมนุษย์
เคยไหม? ตอนที่เรากำลังจะดื่มน้ำเปล่าที่เอามาวางไว้ในห้องนอน พอกำลังจะยกดื่ม เห็นมดลอยอยู่เต็มแก้วเลย!
มดขึ้นน้ำเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเคยประสบมาบ้างไม่มากก็น้อย
ผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับปัญหาและการแก้ปัญหามดขึ้นน้ำเปล่า ไม่ว่าจะเป็นในแก้วน้ำ กาน้ำร้อน เหยือกน้ำและคูลเลอร์น้ำ การแก้ปัญหามดขึ้นน้ำล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องง่ายและใช้หลักการเดียวกัน โดยที่เราเลือกใช้อุปกรณ์กันมดให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะวางกันมดขึ้นเท่านั้น
มดขึ้นน้ำเปล่าเพราะอะไร?
มดมีความต้องการน้ำเหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป มดขึ้นน้ำเพราะต้องการน้ำ โดยปกติแล้วน้ำเป็นสิ่งที่หาได้ในธรรมชาติ หาได้ยากหรือง่ายขึ้นกับฤดูกาล เช่น
สภาพอากาศในฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี ทำให้น้ำระเหยจากดินและแหล่งน้ำ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในธรรมชาติมีน้อยและหายาก
สภาพอากาศในฤดูฝนเป็นช่วงที่มีฝนมาก น้ำมีปริมาณมากและหาได้ไม่ยาก จนถึงขั้นน้ำหลากน้ำท่วมก็มี
หากมดสามารถหาน้ำได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้รัง มดย่อมไม่มีความจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำจากที่อื่น อย่างไรก็ตาม หากมดไม่สามารถหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สะอาด ปลอดภัยและมีปริมาณมากพอสำหรับมด ก็คือน้ำในบ้านของเรานี่เอง
3 ขั้นตอนกันมดขึ้นน้ำเปล่าอย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากน้ำเป็นของเหลวจึงถูกบรรจุหรือเก็บอยู่ในภาชนะรูปแบบต่างๆ เช่น แก้ว เหยือก กาน้ำและคูลเลอร์ เป็นต้น ดังนั้น หลักการป้องกันมดขึ้นน้ำเปล่า คือ การป้องกันมดขึ้นภาชนะบรจุน้ำ ซึ่งมีวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดเพียงวิธีเดียว นั่นคือ การใช้อุปกรณ์กันมดวางรองภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย ปลอดภัย เห็นผลได้ทันที
ขึ้นตอนในการป้องกันมดขึ้นมีดังต่อไปนี้
1. จัดหาอุปกรณ์กันมดให้สอดคล้องกับการใช้งาน
อุปกรณ์กันมดตามท้องตลาดไทยมีอยู่หลายรูปแบบ มีทั้งแผ่นกันมด ถาดกันมด ที่รองกันมด ซึ่งมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป
ท่ามกลางอุปกรณ์กันมดจำนวนมากในท้องตลาด เราสามารถแบ่งประเภทของอุปกรณ์กันมดได้ดังนี้
- อุปกรณ์กันมดแบบใช้ยาฆ่าแมลง
- อุปกรณ์กันมดแบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
เนื่องจากอุปกรณ์กันมดในบทความนี้ใช้กับภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งเราต้องกินดื่มเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น อุปกรณ์กันมดที่เราเลือกใช้ควรเป็นชนิดไม่ใช้ยาฆ่าแมลงจะปลอดภัยที่สุด
การใช้อุปกรณ์กันมดในการป้องกันมดขึ้นน้ำเปล่า ขนาดและรูปร่างของอุปกรณ์กันมดควรจะมีความสอดคล้องกับขนาดของภาชนะบรรจุน้ำที่เราจะวาง เช่น
- แก้วน้ำสามารถใช้ที่รองกันมดหรือแผ่นรองกันมดได้
- กาน้ำร้อนสามารถใช้แผ่นรองกันมดได้
- ชุดแก้วน้ำและเหยือกน้ำ สามารถใช้ถาดกันมดได้
- คูลเลอร์น้ำ สามารถใช้ถาดกันมดรองกันมดได้
- ขนาดเล็กหรือใหญ่ วงกลม จตุรัสหรือผืนผ้า ขึ้นกับสิ่งที่ต้องการใช้วางบนอุปกรณ์กันมด
2. วางภาชนะบรรจุน้ำบนอุปกรณ์กันมดที่เตรียมไว้
หลังจากที่ได้อุปกรณ์กันมดตามที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การวางภาชนะบรรจุน้ำบนอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ โดยไม่วางชิดติดกับผนังหรือกำแพง เพราะแม้มดจะเดินผ่านอุปกรณ์กันมดไม่ได้ แต่มดจะหาทางอื่นจนได้ มดจะใช้ผนังหรือกำแพงเป็นสะพานมดเข้าหาน้ำ จึงมีความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์กันมดที่วางติดกำแพงหรือผนังจะมีมดขึ้น
3. ซ่อมบำรุงตามความจำเป็น
อุปกรณ์กันมดมีทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและแบบใช้ซ้ำได้
- แบบใช้แล้วทิ้งคือ พออุปกรณ์หมดประสิทธิภาพในการกันมดก็ต้องทิ้งเป็นขยะและซื้ออันใหม่
- แบบใช้ซ้ำได้ คือ พออุปกรณ์หมดประสิทธิภาพในการกันมด เราสามารถทำความสะอาดและเติมสารกันมดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (ซ่อมบำรุงได้)
อุปกรณ์กันมดที่ควรเลือกใช้ คือ อุปกรณ์กันมดแบบใช้ซ้ำได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประหยัดกว่าในระยะยาว
ลงทุนซื้ออุปกรณ์ครั้งแรกครั้งเดียวจบ ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์กันมดใหม่ทุกครั้ง งบประมาณในการซื้ออุปกรณ์กันมดชิ้นใหม่มักจะสูงกว่าการซ่อมบำรุงตามรอบ 5-6 เท่า โดยเฉลี่ย
เป็นการช่วยลดขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อุปกรณ์กันมดส่วนมากทำจากพลาสติกหรือมีส่วนประกอบของพลาสติกเป็นหลัก
โปรดทราบว่า การทิ้งขยะพลาสติกเพียงหนึ่งชิ้น ต้องใช้เวลา 700-800 ปีในการย่อยสลายและในระหว่างการย่อยสลาย ขยะชิ้นนั้นอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ สารพิษจากพลาสติกย่อมปะปนลงสู่แหล่งน้ำด้วย สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำย่อมได้รับสารพิษเหล่านี้ มนุษย์ก็จับสัตว์ทะเลมาเป็นอาหาร รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ป่วยและตาย เกิดเป็นวงจรอุบาทว์แบบไม่สิ้นสุด
ระวังสารกำจัดแมลงในแผ่นกันมด
แผ่นกันมดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งบางชนิดมีส่วนผสมของสารกำจัดแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำมาก การใช้แผ่นกันมดลักษณะนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดขยะที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ
ดังนั้น เราจึงควรเลือกใช้อุปกรณ์กันมดแบบใช้ซ้ำได้จะดีต่อเงินในกระเป๋าและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ในคราวเดียวกัน
ซ่อมบำรุงให้ถูกจังหวะเวลาตามความจำเป็น
การซ่อมบำรุงอุปกรณ์กันมดแบบใช้ซ้ำได้ ส่วนมากจะเป็นการทำความสะอาดอุปกรณ์โดยการเช็ดเอาสารกันมดที่เสื่อมสภาพทิ้งไป เช็ดฝุ่นและล้างน้ำอุปกรณ์กันมด เช็ดให้แห้ง จากนั้นเติมสารกันมดเข้าไปใหม่ ความถี่ในการซ่อมบำรุงขึ้นกับการใช้งาน เช่น ถ้าเราใช้งานอุปกรณ์กันมดในบริเวณที่มีฝุ่นมาก รอบการซ่อมบำรุงอาจจะถี่หน่อย เช่น ทุก 6 เดือน เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วรอบการซ่อมบำรุงเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1-2 ปีครั้ง
เวลาซ่อมบำรุงที่เหมาะสมคือ เวลาที่กองทัพมดกำลังจะบุกหรือเดือนก่อนที่จะมีมดเยอะ อันได้แก่ เดือนมีนาคม เพราะหลังซ่อมบำรุงเสร็จใหม่ๆอุปกรณ์กันมดจะมีประสิทธิภาพในการกันมดสูงที่สุด พร้อมรับมือกับกองทัพมดที่มีจำนวนมากได้อย่างสบาย
ตัวอย่างการใช้อุปกรณ์กันมดกับภาชนะบรรจุน้ำ





สรุป
การป้องกันมดขึ้นน้ำเปล่าจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์กันมดที่มีรูปร่างและขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุน้ำ อุปกรณ์กันมดที่ดีต้องไม่ใช้หรือมีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้
อุปกรณ์กันมดที่คุ้มค่ากับการลงทุนคือ แบบใช้ซ้ำได้ และถ้าจะให้คุ้มค่ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ควรหลีกเลี่ยงอุปกรณ์กันมดพลาสติกที่มีส่วนผสมของสารไพรีทรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอย่างรุนแรง
เมื่อท่านได้อุปกรณ์กันมดมาแล้ว ให้นำภาชนะบรรจุน้ำวางบนนั้นก็จะกันมดได้อย่างแน่นอน ท่านจะมีความสบายใจ ดื่มน้ำได้อย่างชื่นใจและมีความสุข ไม่มีมดมากวนแบบถาวร