ถาดกันมดเป็นอุปกรณ์กันมดจำเป็นสำหรับบ้านที่มีปัญหามดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารและน้ำ ถาดกันมดเป็นอุปกรณ์กันมดที่มีความยืดหยุ่น ใช้งานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นในห้องครัว บนเคาเตอร์ ซิงค์ล้างจาน รองชามอาหารแมว บนโต๊ะทำงาน จนถึงการใช้รองของกินกันมดในห้องนอน
เนื่องจากถาดกันมดไม้ (ANT-X Tray) อาจมีราคาที่สูงเกินไปสำหรับหลายท่านและไม่สะดวกในการซื้อถาดกันมดมาใช้ เราทราบและเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงตัดสินใจที่จะสอนวิธีการทำถาดกันมดใช้เองที่บ้านในบทความนี้ แบบไม่มีกั๊ก! เพื่อให้ทุกๆคนที่มีปัญหามดขึ้นได้ใช้ถาดกันมดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างทั่วถึง
แรงบันดาลใจการสอนทำถาดกันมด DIY (DIY = Do it yourself แปลว่า ทำใช้เอง) มาจากท่านผู้ใจบุญที่มีเมตตาในการเลี้ยงแมวจร เนื่องจากแมวจรในบ้านเรามีเป็นจำนวนมาก การรับเลี้ยงแมวจรจึงเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งเรื่องค่าอาหาร ค่าที่อยู่ รวมถึงค่าอุปกรณ์ในการกันมดด้วย เราจึงขอเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลแมวจรครับ
หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ท่านสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปประดิษฐ์ถาดกันมดใช้เองได้ในราคาเฉลี่ยถาดละ 186 บาท เท่านั้น! แถมถาดกันมดยังสามารถทำความสะอาดแบบล้างน้ำได้ ซ่อมบำรุงง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ตลอดไป เพียงแต่เติมเจลกันมดเฉลี่ยปีละครั้ง โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อแผ่นกันมดแบบใช้แล้วทิ้งอีกต่อไป
ประโยชน์ของถาดกันมดและการใช้งาน
ก่อนจะไปเรียนรู้วิธีการทำถาดกันมดใช้เอง เรามาเรียนรู้กันก่อนว่าถาดกันมดมีความเหมาะสมกับหน้างานลักษณะใด? และใช้กันมดได้ดีในสถานการณ์ใดบ้าง?
- ใช้วางรองอาหารบนเคาเตอร์
- ใช้วางรองอาหารและเครื่องดื่มบนโต๊ะทำงาน
- ใช้วางรองถังข้าวสาร
- ใช้วางรองคูลเลอร์น้ำ
- ใช้รองชามอาหารสุนัขหรืออาหารแมว
- ใช้รองถุงเศษอาหารบนซิงค์ล้างจาน
- ใช้รองขวดน้ำตาล ขวดครีมเทียมและกาแฟ ทำมุมชงกาแฟได้
- ใช้รองกาน้ำร้อนไฟฟ้า
- ใช้รองทัพพีตักข้าว
- ใช้รองหม้อแกงในครัว
- และอื่นๆแล้วแต่จะกันมดตามสะดวก
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับทำถาดกันมด

1. ถาด
ถาดที่ใช้จะเป็นถาดพลาสติก ถาดไม้ ถาดเมลามีนขึ้นอยู่กับงบประมาณ มีรูปร่างเป็นวงกลม ผืนผ้าหรือจตุรัสก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการนำถาดกันมดไปใช้งานลักษณะไหน? เช่น
- ถาดควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถ้าใช้วางชามอาหารน้องแมวพร้อมกับถ้วยน้ำ วางกล่องใส่ข้าวสาร เครื่องให้อาหารแมวอัติโนมัติ
- ถาดควรเป็นสี่เหลียมจตุรัส ถ้าใช้วางชามอาหารน้องแมวอย่างเดียว
- ถาดควรเป็นวงกลม ถ้าใช้วางกันมดคูลเลอร์น้ำขนาดเล็กหรือกาน้ำร้อน
- และอื่นๆอีกจะเป็นรูปไหนก็ได้ ท่านสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เล็กใหญ่ขึ้นกับสิ่งทีต้องการกันมดและการใช้งานจริง
2. กระสวยด้ายกะโหลกใหญ่ทำจากอลูมิเนียม
กระสวยด้ายเป็นอะไหล่หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหรรมทอผ้ามาตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1800 เริ่มต้นจากการใช้ไม้เป็นวัสดุในการผลิต ต่อมามีการพัฒนาต่อยอดออกมาหลายรูปแบบ หลายลักษณะและหลายขนาดเพื่อให้เข้ากับเครื่องจักรที่ใช้งานร่วมกัน วัสดุที่ใช้ผลิตกระสวยด้ายมีตั้งแต่ไม้ พลาสติก อลูมิเนียม เหล็กและสแตนเลส การออกแบบกระสวยด้ายขึ้นกับการใช้งานร่วมกับเครื่องทอผ้าหรือจักรเย็บผ้า
กระสวยด้ายกะโหลกใหญ่ที่เรากำลังพูดถึงมีวัสดุเป็นอลูมิเนียม มีเฉพาะรูแกนกลาง ไม่มีรูใดๆบนแผ่นบนและแผ่นล่าง ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร และมีความสูงอย่างน้อย 8 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันมดตัวเล็กปีนข้ามแผ่นล่างไปยังแผ่นบนได้
เราจะใช้เจลกันมดทาบริเวณเพดาน ฐานและแกนของกระสวยด้ายเพื่อใช้เป็นขาตั้งกันมด ป้องกันไม่ให้มดเดินหรือไต่ผ่านกระสวยด้ายเข้าอาหารและน้ำที่วางไว้บนถาดได้
ท่านสามารถสั่งซื้อกระสวยด้ายขนาด 2.5 เซนติเมตรได้ใน Google โดยการค้นหาคำว่า “กระสวยด้าย 2.5 เซนติเมตร” มีหลายร้านให้เลือกซื้อได้ตามสะดวก
3. เทปกาวสองหน้า 3M
เทปกาวสองหน้าเป็นของที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อหรือติดตั้งกระสวยด้ายเข้ากับตัวถาด ที่ผู้เขียนแนะนำเทปกาวสองหน้ายี่ห้อ 3M เพราะกาวที่อยู่บนเทปมีความเหนียวสูงเมื่อนำไปติดกับชิ้นงาน แต่ไม่ทิ้งคราบเมื่อลอกออก จึงทำให้พื้นผิวของอุปกรณ์ที่ติดเทปมีความสะอาดไม่เป็นคราบกาวและไร้ปัญหาในการติดเทปพื้นที่เดิมซ้ำ
4. เจลกันมดปลอดภัย
เป็นหัวใจสำคัญของการทำถาดกันมด เราจะใช้เจลกันมดที่ทากระสวยด้ายหรือขาตั้งกันมดทุกขา ก่อนนำไปติดเข้ากับตัวถาด
5. พู่กันระบายสีน้ำเบอร์ 4
เราจะใช้พู่กันป้ายเอาเจลกันมดจากตลับแล้วนำไปทาที่กระสวยด้ายทีทำหน้าที่เป็นขาตั้งกันมด มีขายตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป
วิธีประดิษฐ์ถาดกันมด
1. นำกระสวยด้ายมาติดเทปสองหน้าหนึ่งด้าน โดยเราจะใช้ด้านนี้เชื่อมต่อหรือติดกับตัวถาด แนะนำให้ใช้กระสวยด้ายทั้งหมด 5 ชิ้น ต่อหนึ่งถาด เพื่อความแข็งแรงและการรับน้ำหนักได้ดี เหตุผลที่ต้องติดเทปก่อนเพราะหากเราทาเจลกันมดก่อนแล้วเจลไปเลอะบริเวณที่จะติดเทปสองหน้า จะส่งผลให้เทปสองหน้าติดไม่อยู่

2. ทาเจลกันมดปลอดภัยบริเวณเพดาน ฐานและแกนของกระสวยด้าย โดยทาเจลความหนาพอควรเพื่อความทนทานและประสิทธิภาพการกันมดที่สูง

3. ใช้กระดาษทิชชู่เช็ดเจลที่เลอะบริเวณขอบปีกกระสวย เพื่อความสะอาดเรียบร้อย
4. ลอกแผ่นปิดบนเทปสองหน้าออก แล้วนำไปติดที่ใต้ถาดให้ครบ 5 จุด หรืออาจจะติดมากกว่านั้นหากถาดมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ขาตั้งยิ่งมีจำนวนมากยิ่งรับน้ำหนักได้มาก

5. ถึงตอนนี้ท่านจะได้ถาดกันมดพร้อมใช้ สามารถนำไปวางรองอาหารและน้ำเพื่อกันมดได้
เพิ่มความแข็งแรงและปรับเปลี่ยนขนาด สี วัสดุและรูปแบบได้ตามต้องการ
- ถาดเป็นอุปกรณ์ที่มีวางขายอยู่ทั่วไป มีหลากหลายขนาด รูปร่าง วัสดุ ลวดลายและสี ท่านสามารถเลือกซื้อถาดมาทำถาดกันมดได้ตามต้องการแบบไร้ขีดจำกัด
- หากไม่ต้องการพื้นที่ใหญ่มาก เราสามารถใช้ถาดกันที่มีขนาดเล็กลง เช่น 20×20 เซนติเมตรได้
- กระสวยด้ายอาจถูกทดแทนด้วยแกนด้ายพลาสติกหรือแกนด้ายไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ตัวอย่างถาดกันมดในบทความนี้รับน้ำหนักได้เต็มที่ไม่เกิน 30 กิโลกรัม
- หากเราใช้ถาดกันมดวางรองของที่มีน้ำหนักมาก เช่น ถังข้าวสารใหญ่ๆหลายสิบกิโลกรัม คูลเลอร์ที่มีน้ำอยู่เต็ม เราจำเป็นต้องใช้ถาดที่มีความหนาและมีความแข็งแรง เช่น ถาดไม้ ถาดสแตนเลสหรือถาดพลาสติกที่หนาพิเศษ ร่วมกับแกนด้ายที่มีขนาดใหญ่กว่ากระสวยด้าย 2.5 เซนติเมตร
- หากเราใช้ถาดกันมดวางรองของร้อน เช่น หม้อแกงที่เพิ่งขึ้นจากเตาใหม่ๆ ถาดที่ใช้ควรเป็นถาดไม้ ถาดสแตนเลสหรือถาดพลาสติกที่ทนร้อนได้
- หากเราใช้ถาดกันมดวางรองอาหารและเครื่องดื่มทั่วๆไป พลาสติกราคาถูกก็ใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นต้องซื้อถาดราคาแพงอะไร
การทำความสะอาดถาดกันมด DIY
ท่านสามารถนำถาดกันมดไปล้างน้ำ โดยล้างเฉพาะบริเวณที่ใช้วางของ แต่ถ้าถาดสกปรกมากท่านสามารถถอดเอาขาตั้งกันมดออกก่อน แล้วนำถาดไปล้างทำความสะอาดใหญ่ได้ทั้งอัน เช็ดให้แห้ง นำมาติดกับขาตั้งแล้วนำไปใช้งานรองกันมดได้ปกติ
การซ่อมบำรุงถาดกันมด DIY
จุดที่เราต้องดูแลและซ่อมบำรุงคือ กระสวยอลูมิเนียมที่ทำหน้าที่เป็นขาตั้งกันมดจะมีเจลทาอยู่ รายละเอียดที่ควรทราบมีดังต่อไปนี้
- หากเราใช้ถาดบนโต๊ะหรือเคาเตอร์ทั่วไป อายุการใช้งานหรือความทนทานในการกันมดจะอยู่ที่ประมาณ 18 เดือน
- หากเราใช้งานบนพื้น อายุการใช้งานหรือความทนทานในการกันมดจะอยู่ที่ประมาณ 12 เดือน
- ไม่ว่าเราจะใช้ถาดกันมดทำเองบนพื้นหรือบนโต๊ะ การซ่อมบำรุงที่ควรทำเป็นประจำคือ การเอาเส้นผม ขนสัตว์เลี้ยงและฝุ่น ออกจากขาตั้ง โดยใช้ไม้อันเล็กๆเขี่ยเอาเศษเหล่านี้ออก ระวังอย่าให้ไม้ที่เราใช้เขี่ยสัมผัสกับเจลกันมดทีทาอยู่บนขาตั้ง เพราะอาจส่งผลให้เจลหลุดลอกและประสิทธิภาพการกันมดลดลงได้ ควรจะทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้มีฝุ่นสะสมจำนวนมากจนทำความสะอาดได้ยาก
- เมื่อครบรอบอายุการใช้งาน เราสามารถถอดขาตั้งกันมดออกจากถาด เสร็จแล้วใช้กระดาษทิชชู่เช็ดเอาเจลเก่าออก เสร็จแล้วทาเจลใหม่ได้ตลอด
- หากเทปสองหน้าหมดความเหนียวให้เปลี่ยนเทปกาวสองหน้าใหม่ทันที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดติดระหว่างขาตั้งและตัวถาด
คำนวณค่าใช้จ่ายถาดกันมดให้ดูกันจะจะ
ค่าอุปกรณ์ทั้งหมดสำหรับถาดกันมด 3 ชุด
- ถาดพลาสติก จำนวน 3 อัน ราคา 139 บาท
- กระสวยด้ายอลูมิเนียม 2.5 เซนติเมตร จำนวน 15 ชิ้น 207 บาท
- เทปกาวสองหน้า 3M ม้วนละ 50 บาท (เทปที่เหลือเก็บไว้เปลี่ยนเทปที่ไม่เหนียวแล้วได้ในภายหลัง)
- เจลกันมด 1 ตลับ 150 บาท (เจลที่เหลือเก็บไว้ทาขาตั้งได้ในภายหลัง)
- พูกันสีน้ำเบอร์ 4 จำนวน 1 อัน 10 บาท
รวม 556 บาท ต้นทุนเฉลี่ยต่อถาด 186 บาท คุ้มสุดๆ!
สรุป

ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณบรรพบุรุษนักประดิษฐ์ของโลกใบนี้ ที่ได้คิดค้นรูปทรงกระสวยด้ายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำถาดกันมดได้ ขอบคุณครับ!
ถาดกันมดทำเองจะต่างจากถาดกันมดไม้ (ANT-X Tray) ในเรื่องของความสวยงามและความแข็งแรงเท่านั้น ในส่วนของประโยชน์ใช้สอยแทบจะไม่ได้มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ กันมดได้เหมือนกันในเกือบทุกสถานการณ์ (ขึ้นกับถาดที่ใช้ทำเป็นสำคัญ) ดังนั้น ท่านจึงมั่นใจได้ว่าถาดกันมดทำเองมีประสิทธิภาพสูงในการกันมดอีกทั้งยังมีความปลอดภัย ในราคาสุดคุ้มค่าอย่างแน่นอน
ปัจจัยสำคัญของผลิตภัณฑ์กันมดเกือบทุกชนิด คือ สารกันมด จะกันมดได้ทนทาน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพหรือไม่? ขึ้นกับสารกันมดเป็นหลัก ดังนั้น การเลือกใช้สารกันมดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องใส่ใจเลือกให้ดี เจลกันมดปลอดภัยเป็นสารกันมดที่กันมดได้ทนทาน ปลอดภัยต่อคนและสัตว์และมีประสิทธิภาพการกันมดสูง จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากท่านไม่สะดวกที่จะซื้อเจลกันมดปลอดภัย ท่านสามารถไปที่ร้านขายยาแล้วซื้อวาสลีนมาใช้แทนได้ โดยที่ต้องขยันซ่อมบำรุงมากหน่อย เพราะวาสลีนแห้งค่อนข้างไว ความทนทานในการกันมดจะอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น
ลองทำใช้เองที่บ้านดีไม่ดีอย่างไร แชร์ข้อมูลผ่านทางไลน์กันเข้ามาได้ หากท่านเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ต่อผู้อื่นและช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้น ขอให้ช่วยกันแชร์หรือบอกต่อบทความนี้ออกไปเยอะๆครับ!