บ้านใครมีปัญหาเรื่องมดยกมือขึ้น? ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นมดก็จะมีมากกว่าประเทศที่อยู่ในเขตหนาวเป็นธรรมดา มดบุกบ้านเป็นปัญหาสามัญที่พบได้เกือบทุกครัวเรือนจะเรียกว่าเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านก็ว่าได้
การจัดการกับมดที่เข้ามาหาอาหาร น้ำและที่อยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมดเข้าบ้านเราในหลายช่องทาง หลายรูปแบบ การป้องกันและการไล่มดจึงขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาซึ่งแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน บางบ้านอาจจะมีปัญหามดขึ้นเพียงจุดเดียวแก้ได้ง่ายโดยใช้สารกันมดเพียงชนิดเดียว บางบ้านอาจจะมีปัญหามดขึ้นหลายจุดจำเป็นต้องใช้สารกันมดหลายชนิดเพื่อป้องกันและไล่มดก็เป็นได้
บทความนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารกันมดและวัสดุกันมดชนิดต่างๆถึง 17 ชนิด ที่ท่านผู้อ่านสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปัญหามดบุกบ้านของท่านได้อย่างครบวงจร

1. เจลกันมด (Ant Blocking Gel)
หลักการป้องกันมด
เจลกันมดใช้หลักการขัดขวางทางเดินของมด มดจะไม่สามารถเดินผ่านบริเวณที่ทาเจลได้ เพราะเนื้อเจลจำกัดการเคลื่อนไหวของมด ทำให้มดเดินไม่สะดวกและเคลื่อนไหวได้ลำบากจนถึงเคลื่อนไหวไม่ได้
เจลกันมดเป็นสารกันมดที่มีความปลอดภัยระดับเกรดอาหาร คำว่าเกรดอาหารคือ สัมผัสกับอาหารแล้วบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หมาแมวเผลอเลียไม่เป็นไร ปลอดสารโลหะหนักตามมาตรฐานยุโรป ไร้สารพิษและยาฆ่าแมลง ความปลอดภัยจึงอยู่ในระดับสูง
การใช้งาน
- ใช้ทาพื้นที่ที่ต้องการกันมดเดินผ่าน เช่น ขาโต๊ะ ขาตู้ ขาเตียง ตู้กับข้าว หรือ
- ใช้ทดแทนสารกันมดแบบเดิม เช่น น้ำ แป้งเด็ก ในภาชนะต่างๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ ชามกันมด
- สามารถใช้ทาได้กับพื้นผิวหลายประเภท เช่น โลหะ สแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก ไม้ทำสีแล้ว
ข้อดี
- ความปลอดภัยสูงระดับเกรดอาหาร ดีที่สุดในตลาดผลิตภัณฑ์กันมด
- ไร้สารพิษและยาฆ่าแมลง
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ 100%
- หมาแมวเลียไม่เป็นไร
- สะดวกใช้งานง่าย เพียงทาพื้นที่ที่ต้องการกันมดก็กันมดได้ทันที
- มีความทนทานต่อความชื้นและน้ำ ติดทนนาน หากใช้อย่างเหมาะสมจะมีระยะเวลากันมดยาวนาน 1-2 ปี
- ประสิทธิภาพการกันมดสูง
- ใช้ทาได้กับพื้นผิวหลายประเภท เช่น โลหะ สแตนเลส อลูมิเนียม พลาสติก ไม้ทำสีแล้ว จึงมีความเหมาะสมกับการทาลงบนพื้นผิวของอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ได้โดยตรง โดยไม่ทำให้พื้นผิวเสียหาย
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะกับพื้นผิวที่เป็นยาง ไม้ไม่ได้ทำสีหรือปูนไม่ได้ทาสี เพราะความทนทานและอายุการใช้งานสั้น
- พื้นที่ทาเจลที่เปิดโล่งและมองเห็นได้ด้วยตา เช่น กำแพง ขาโต๊ะ ขาตู้ อาจดูเลอะเทอะสำหรับผู้ที่ต้องการความสวยงามเรียบร้อย

2. น้ำ (Water)
หลักการป้องกันมด
การกันมดด้วยน้ำใช้หลักการขัดขวางทางเดินของมด หากมดจะเข้าถึงอาหาร มดจำเป็นต้องผ่านและว่ายข้ามน้ำไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้มดอาจจะจมน้ำตายได้
การใช้งาน
- ใช้เติมในภาชนะ เช่น ถาด ถ้วย เพื่อป้องกันมดเดินผ่านเข้าอาหารหรือสิ่งที่ต้องการป้องกัน
ข้อดี
- หาได้ง่าย
- ราคาถูก ประหยัดค่าใช้จ่าย
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ ภายใต้เงื่อนไขของความสดใหม่และปราศจากการปนเปื้อน
ข้อเสีย
- ต้องอาศัยภาชนะในการบรรจุเพื่อกันมด
- เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย
- มีโอกาสหกเลอะเทอะ หากมีคนไปเดินเตะภาชนะบรรจุ
- หากเราใช้น้ำหล่อกันมดชามอาหารสัตว์ น้ำสะอาดจะเปลี่ยนเป็นน้ำไม่สะอาดเมื่อมีอาหารจากชามหล่นลงในน้ำ น้ำอาจเน่า หากสัตว์เลี้ยงที่เรารักเลียหรือดื่มน้ำก็อาจไม่สบายได้
- หากเราใช้น้ำหล่อขาตู้กับข้าว น้ำสะอาดจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ยุงเป็นพาหะของโรคชนิดต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก สมาชิกในครอบครัวของเราก็อาจมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้
- น้ำระเหยได้ง่ายทั้งภายใต้อุณหภูมิต่ำ (อากาศแห้ง ความชื้นในอากาศต่ำ)และอุณหภูมิสูง (อากาศร้อน) ประสิทธิภาพการกันมดของน้ำจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณน้ำ ถ้าน้ำน้อยจนเกินไปก็อาจกันมดได้ไม่ค่อยดีนัก
- มีท่านผู้อ่านท่านใดเคยเห็นมดว่ายน้ำหรือไม่? เนื่องจากน้ำเป็นสารที่ปลอดภัย มดจึงไม่ได้กลัวน้ำในทุกกรณี มีหลายกรณีที่มดสามารถว่ายน้ำข้ามร่องเติมน้ำบนชามกันมดสำเร็จ
- มีความจำเป็นต้องดูแลเรื่องปริมาณและความสะอาดของน้ำบ่อยๆจึงจำเป็นต้องใช้เวลาซ่อมบำรุงมาก

3. แป้งเด็ก (Baby Powder)
หลักการกันมด
ใช้ป้องกันมดเดินผ่าน เหตุผลที่มดไม่เดินผ่านแป้งมีดังต่อไปนี้
- แป้งเด็กมีลักษณะเป็นฝุ่นผงและมีส่วนผสมของสารลดความเปียกชื้นที่มีชื่อว่า talcum ซึ่งสารชนิดนี้หากสัมผัสโดนกับผิวหรือเปลือกแข็งของมดจะทำให้น้ำมันที่เคลือบบนเปลือกแข็งแห้ง ส่งผลให้มดมีอาการขาดน้ำ (dehydration)
- แป้งเด็กมีความสามารถในการปิดรูหายใจข้างตัวมดทั้งสองข้าง (ภาษาอังกฤษเรียกว่า spiracles) ทำให้ขาดอากาศหายใจและตายในที่สุด
- แป้งเด็กเป็นสารที่มีกลิ่นแรง มดเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสรับกลิ่นไวและสื่อสารกันด้วยกลิ่นฟีโรโมน มดเดินไปตรงไหนจะทิ้งฟีโรโมนไว้ตรงนั้น เวลามดกลับรังมดก็จะตามกลิ่นฟีโรโมนที่ทิ้งไว้ตามทางจนถึงรัง การใช้แป้งกันมดจะทำให้การสื่อสารของมดผิดเพี้ยนหรือหาทางกลับรังไม่ถูก เนื่องจากฟีโรโมนของมดถูกกลิ่นหอมของแป้งกลบจนหมด มดที่กลับรังไม่ได้จะตาย
การใช้งาน
- ใช้โรยตามทางเดิน ขอบประตู ขอบหน้าต่างเพื่อไม่ให้มดเดินผ่าน
- ใส่ภาชนะเพื่อใช้รองขาโต๊ะ ขาตู้
ข้อดี
- แป้งเด็กจัดได้ว่าเป็นสารกันมดที่มีความปลอดภัยระดับเครื่องสำอาง หมายความว่า สัมผัสกับผิวหนังได้โดยไม่เป็นอันตราย การนำไปใช้กันมดในบริเวณที่ไม่ได้ใกล้กับอาหาร เช่น ใช้เติมถ้วยรองขาตู้กับข้าว ใช้โรยบริเวณขอบหน้าต่าง จึงมีความปลอดภัย
- กันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบของการใส่ในถ้วยหรือมีภาชนะบรรจุ
- ความทนทานและอายุการใช้งานยาวนาน (ภายใต้เงื่อนไขที่เราเติมใส่ถ้วยในปริมาณที่มากพอ ไม่ฟุ้งกระจายหรือมีขยะหล่นใส่จำนวนมาก)
- ราคาไม่แพง มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง กันมดได้ค่อนข้างยาวนานหากใช้อย่างถูกวิธี
- หาซื้อได้ง่ายมาก
- ประหยัดเวลา ใช้เวลาน้อยในการซ่อมบำรุง (นานๆเติมที)
ข้อเสีย
- ในกรณีของการกันมดบริเวณที่ใกล้กับอาหารและน้ำ แป้งเด็กอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนัก เพราะแป้งมีลักษณะเป็นฝุ่นผง หากมีลมพัดผ่านก็อาจเกิดการฟุ้งกระจายได้ง่ายและอาจเกิดการปนเปื้อนกับอาหารและน้ำโดยที่เราไม่ตั้งใจ ผู้เขียนเชื่อว่า เราและสัตว์เลี้ยงที่รักคงไม่อยากทานอาหารและน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนอยู่อย่างแน่นอน
- ปลิวหายได้ง่ายหากโรยทิ้งไว้ตามขอบหน้าต่างและตามพื้น
- จากประสบการณ์ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันมดของผู้เขียนพบว่า มีอยู่ 2 กรณีที่แป้งไม่สามารถกันมดได้ โดยได้ข้อมูลจากผู้ใช้แป้งในการกันมดถึง 2 ราย รายแรกใช้ถ้วยกันมดเติมแป้งรองขาโต๊ะเพื่อใช้กันมดขึ้นโต๊ะอาหาร รายที่สองใช้ถ้วยกันมดเติมแป้งรองขาตู้เพื่อใช้ป้องกันมดขึ้นตู้กับข้าว เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้เห็นหน้างานและตรวจสอบรายละเอียดด้วยตนเอง จึงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

4. เหยื่อล่อมด (Ant Bait)
หลักการกันมด
ใช้หลักการวางยาพิษ โดยพื้นฐาน สารที่ใช้ผลิตเหยื่อล่อมดมีความเป็นพิษสูงเพราะมีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง มดที่กินเหยื่อเข้าไปจะไม่ตายทันที แต่อาจจะตายภายใน 24 -48 ชั่วโมง หลังจากที่เหยื่อออกฤทธิ์ มดจำนวนมากจะตายเพราะกินเหยื่อเข้าไป หากเรารอดูสักหนึ่งสัปดาห์แล้ว มดยังเดินป้วนเปี้ยนอยู่ในบ้านแสดงว่ามดยังตายไม่หมดรัง เรามีความจำเป็นต้องวางเหยื่อล่อมดเพิ่มไปเรื่อยๆ โดยปกติแล้วอาจจะประมาณ 2-3 รอบ มดก็ตายหมดแล้ว
การใช้งาน
เพียงเราเทหรือวางเหยื่อล่อมดไว้ใกล้ๆรังมดหรือบริเวณที่มดเดินผ่าน มดจะมากินเหยื่อและขนเหยื่อกลับไปที่รังเพื่อแบ่งให้มดตัวอื่นกินด้วย
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่ายมีขายทั่วไป
- ใช้งานง่าย เพียงโรยเหยื่อไว้ใกล้รังมดหรือบริเวณที่มดเดินผ่านบ่อยๆ
- สมัยนี้มีเหยื่อที่เป็นกล่องหรือเป็น station ปิดมิดชิดที่มีความปลอดภัยมากกว่าแบบผงโรย
- ประสิทธิภาพสูง หากเหยื่อล่อมดได้ผลดี หลังใช้แล้วมดจะไม่มาเดินเผ่นผ่านในบ้านอีกสักพัก เพราะมดตายหมดยกรังไปแล้ว
ข้อเสีย
- ส่วนผสมของยาฆ่าแมลง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อมดแล้วยังเป็นอันตรายต่อคน เด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง การวางเหยื่อล่อมดจึงควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะถ้าหากเผลอกินเข้าไปโดยไม่ตั้งใจก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรงได้ ความปลอดภัยของเหยื่อล่อมดจึงอยู่ในระดับต่ำมาก
- มีบางกรณีที่มดกินเหยื่อครั้งแรกแล้วเราทำการวางเหยื่อล่อครั้งที่สอง มดกลับไม่กินเหยื่อ เพราะมดเรียนรู้ว่าอาหารชนิดนี้เป็นพิษ ในบางครั้งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชนิดของเหยื่อล่อเป็นแบบใหม่ เพื่อให้มดกินเหยื่ออีกครั้ง
- เหยื่อล่อมดจะกันมดได้นานก็ต่อเมื่อไม่มีมดกลับมาทำรังในบริเวณบ้านของเราอีก เป็นเรื่องยากที่เราจะควบคุมการทำรังของมดในบริเวณบ้านได้ มดมักจะหาที่ทำรังใกล้ๆบริเวณที่มีอาหารและน้ำ ตราบใดที่บ้านของเรายังมีอาหารและน้ำที่มดเข้าถึงได้ มดจะกลับมาอีกได้เรื่อยๆ ดังนั้น แม้มดจะตายไปแล้วชุดแรกก็อาจมีมดชุดใหม่เข้ามาทำรังและเดินเข้าบ้านของท่านได้ตลอดเวลา ท่านก็ต้องวางเหยื่อล่ออีก เหยื่อล่อมดจึงไม่สามารถการันตีความทนทานหรือระยะเวลาที่กันมดได้

5. ชอล์กกันมด (Ant Killer Chalk)
หลักการกันมด
ชอล์กกันมด คือ ชอล์กที่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลงชนิดเดลต้าเมทรินและไซเปอร์เมทรินซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงในกลุ่มของไพรีทรอยด์เพื่อการกันมด กันมดได้ด้วยวิธีขีดเป็นวงเพื่อป้องกันการเข้าถึงของมด มดที่ได้รับสารจากชอล์กกันมดจะตายในระยะเวลาอันสั้นเพราะระบบประสาทถูกทำลายจากยาฆ่าแมลง
การใช้งาน
ขีดเป็นวงล้อมบริเวณที่ต้องการป้องกันมดเดินผ่าน เช่น รอบขาตู้กับข้าว รอบขาโต๊ะ กรอบประตู กรอบหน้าต่าง
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่ายมีจำหน่ายทั่วไป
- ราคาถูก
- ใช้งานง่ายเพียงขีดล้อมก็กันมดได้แล้ว
ข้อเสีย
- มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลงจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นอันตรายต่อคน เด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวที่มีความไวต่อสารฆ่าแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์มาก
- ประสิทธิภาพการกันมดจะขึ้นกับปริมาณของชอล์กที่เราขีด ถ้าเราขีดเส้นหนาจะกันมดได้ดีกว่าการขีดเส้นบาง การควบคุมปริมาณหรือความเข้มของชอล์กที่ขีดทำได้ค่อนข้างยาก เพราะน้ำหนักมือแต่ละคนไม่เท่ากัน
- เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลังขีดชอล์ก ชอล์กกันมดมักจะหลุดลอกได้ง่ายด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนั้น ประสิทธิภาพในการกันมดจึงไม่สม่ำเสมอและควบคุมได้ยาก
- การจับยึดกับพื้นผิวจึงเป็นไปอย่างหลวมๆเมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่นานชอล์กก็มักจะหลุดลอกได้เองหรือจากการสัมผัสของคนและสัตว์เพียงไม่กี่ครั้ง ความทนทานของชอล์กกันมดจึงมีค่อนข้างน้อย มีความจำเป็นต้องตรวจสอบและขีดชอล์กอยู่เรื่อยๆเพื่อให้กันมดได้อย่างสม่ำเสมอ

6. การบูรกันมด (Camphor)
หลักการกันมด
การบูรมีลักษณะเป็นผลึกหรือเป็นผงสีขาวมีกลิ่นแรง สูดดมแล้วเย็นสดชื่น การบูรใช้กันมดได้เพราะมีกลิ่นฉุนรุนแรง
มดเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสเรื่องกลิ่นดีมากและใช้กลิ่นหรือฟีโรโมนในการติดต่อสื่อสารระหว่างมดด้วยกัน เวลามดเดินไปไหนมดจะทิ้งฟีโรโมนไว้ตามทางที่เดินผ่านไป โดยฟีโรโมนที่มดใช้สื่อสารจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่มดเจอ เช่น เวลาเดินทางจะเป็นฟีโรโมนกลิ่นหนึ่ง เวลามดเจออันตรายจะปล่อยฟีโรโมนอีกกลิ่นหนึ่ง เป็นต้น กลิ่นที่รุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ทำร้ายมดได้ถึงตายและขัดขวางการติดต่อสื่อสารของมด
การใช้งาน
การใช้การบูรในการกันมดจะเป็นไปในลักษณะของการใช้โรยเป็นแถบเพื่อไม่ให้มดเดินผ่านได้ กลิ่นที่รุนแรงของการบูรส่งผลให้มดกลับรังและสื่อสารกันไม่ได้เพราะไปกลบกลิ่นฟีโรโมนที่มดปล่อยไว้จนหมด
ข้อดี
- การบูรเป็นสมุนไพรโบราณที่มีกลิ่นหอม สร้างความสดชื่นและตื่นตัวเมื่อได้กลิ่น
- หาซื้อได้ง่าย
- ราคาไม่แพง
ข้อเสีย
- การใช้การบูรเพื่อกันมดจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง แม้การบูรจะมีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อยกว่ายาฆ่าแมลงมาก แต่หากได้รับเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ทางการสัมผัสผ่านผิวหนังหรือการกินในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจเกิดอาการชัก รวมถึงเป็นอันตรายต่อปอดและตับได้
- การบูรกันมดสามารถระเหิดได้โดยวางทิ้งไว้ในสภาพแวดล้อมปกติและสามารถปลิวหายได้ (กรณีที่ใช้การบูรแบบผง) หากมีลมพัดผ่าน จึงเป็นสารกันมดที่มีประสิทธิภาพดีแต่หมดเร็ว โดยเฉพาะในอากาศร้อนๆการบูรจะหมดเร็วกว่าปกติ การใช้การบูรในการกันมดจึงจำเป็นต้องใช้เวลาดูแลค่อนข้างมาก
- การบูรแบบผงเท่านั้นที่สามารถใช้โรยกันมดได้ การระเหิดและการปลิวหายจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ใช้เวลาในการดูแลและซ่อมบำรุงค่อนข้างบ่อย ความทนทานหรือระยะเวลาในการกันจึงสั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์เท่านั้น

7. ผงชันหรือขี้ซี (Dammar)
หลักการกันมด
ผงชันหรือขี้ซีเป็นยางไม้ที่แข็งตัวแล้วนำมาบดเป็นผงแล้วนำไปผสมกับน้ำมันยาง เพื่อใช้ในการยาแนวเรือไม้ กันน้ำรั่วซึมเข้าตัวเรือ
ยางไม้เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการที่ต้นไม้ถูกนกหรือแมลงบางชนิดเจาะเข้าไปในเนื้อไม้จนเกิดรู ต้นไม้จะปล่อยยางเหนียวซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวออกมาเพื่อปิดรูและป้องกันการเจาะซ้ำ ยางที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อสัมผัสกับอากาศจะกลายเป็นของแข็งที่เรียกว่า แท่งชัน โดยคนสามารถใช้มือหักเอาแท่งชันจากต้นไม้ได้ เพราะแท่งชันมีความเปราะ หากนำไปบดเป็นผงจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ผงชันหรือขี้ซี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
มดจะไม่เดินผ่านผงชันเพราะจะทำให้เปลือกหุ้มร่างกายมดแห้ง ส่งผลให้เกิดอาการขาดน้ำและผงชันจะเข้าไปอุดรูหายใจที่อยู่ข้างลำตัวของมดทำให้มดขาดอากาศหายใจตาย
การใช้งาน
การใช้ผงชันเพื่อการกันมดส่วนมากจะใช้ใส่ในถ้วยรองขาตู้กับข้าว (ลักษณะการใช้งานจะเหมือนแป้งเด็กและผงกันมดชนิดอื่นๆ) หรือใช้โรยบนพื้นหรือขอบหน้าต่างเพื่อขัดขวางทางเดินมด ป้องกันไม่ให้มดเดินผ่านได้
ข้อดี
- ผงชันแท้เป็นของธรรมชาติจึงมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง คนโบราณมีการนำผงชันไปเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรสำหรับสมานแผลและแก้โรคท้องร่วง
- ผงชันเป็นสารกันมดที่ผ่านการพิสูจน์จากคนโบราณแล้วว่า ใช้กันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ใส่ถ้วยรองขาตู้กับข้าว
- ราคาไม่แพง
- หาซื้อได้ง่าย
- กันมดได้ยาวนานหลายปี
- ใช้เวลาดูแลและซ่อมบำรุงน้อย
ข้อเสีย
- มีความจำเป็นต้องใช้ภาชนะบรรจุเพื่อการกันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความทนทานในการกันมดน้อย หากใช้โรยตามกรอบหน้าต่าง กรอบประตู เพราะเป็นผงลมพัดปลิวหายได้ง่าย
- สมัยนี้มีผงชันแบบผสมสารเคมีชนิดอื่นที่ใช้สำหรับยาแนวเรือโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่ผงชันแท้ 100% ความปลอดภัยน้อยกว่าผงชันแท้การเลือกซื้อต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง
- ไม่เหมาะสำหรับใช้กันมดกับชามอาหารสัตว์ เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับอาหารและน้ำได้ง่าย
- ทำให้ขาตู้เลอะเป็นคราบดูไม่สะอาดตา ซึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการความสวยงามแลดูสะอาดตลอดเวลา
- จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารกันมดพบว่ามีอยู่ 1 กรณีที่ผงชันกันมดไม่ได้ โดยลูกค้าติดต่อเข้ามาปรึกษาว่า ใช้ผงชันใส่ถ้วยรองขาตู้กับข้าวเพื่อกันมดแต่มดเดินลุยข้ามผงชันไปขึ้นตู้กับข้าวได้ ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้เขียนมากพอสมควร แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถตรวจสอบหน้างานได้ จึงไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงในกรณีนี้

8. กาวกันมดและแมลง (Ant Glue Trap)
หลักการกันมด
กาวกันมดตามท้องตลาดจะมีลักษณะเป็นแผ่นกาวดักมดที่วางอยู่ในกล่องและเปิดช่องให้มดเดินผ่าน ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการดักมดแล้ว ยังสามารถดักแมลงชนิดอื่นๆได้ด้วย หลักการกันมดก็แสนง่าย คือ แผ่นกาวที่มีความเหนียวสูง หากมีแมลงชนิดใดหลงเดินผ่านเข้าไปจะติดอยู่กับแผ่นกาวหนีออกไปไม่ได้และตายอยู่ในนั้น
การใช้งาน
ใช้วางบนพื้นเป็นกับดักรอให้มด แมลงและสัตว์ชนิดอื่นๆภายในบ้านเดินผ่านเข้าไป สัตว์ที่เดินเข้าไปในพื้นที่กาวเหนียวจะติดอยู่ในนั้นขยับไปไหนไม่ได้ หน้าที่ของผู้ใช้คือต้องคอยตรวจสอบว่ามีสัตว์เข้ามาติดกับดักหรือยัง? ถ้ามีก็ต้องเปลี่ยนกับดักอันใหม่
ข้อดี
- มีกาวเหนียวสูตรปลอดภัยป้องกันการเดินผ่านของมดและไม่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง ทั้งนี้ขึ้นกับยี่ห้อของกาวกันมด เรามีความจำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อมาใช้ เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีสูตรกาวที่แตกต่างกัน
- กาวกันมดเป็นสารกันมดเดินผ่านที่มีประสิทธิภาพสูง มดที่เดินผ่านจะติดอยู่กับแผ่นกาวเหนียวแบบเดินไปไหนไม่ได้ เราสามารถวางแผ่นกาวเหนียวไว้บนพื้นหรือติดบนผนังเพื่อดักมด แมลงสาป จิ้งจก หนู ตะขาบหรือแม้กระทั่งงูที่เผลอเข้ามาบนแผ่นกาว
ข้อเสีย
- ถ้ามีมดเข้าไปตายในกับดักกาวมดจะปล่อยกลิ่นฟีโรโมนที่เตือนถึงอันตรายให้มดตัวอื่นได้กลิ่น มดตัวอื่นๆจะไม่เข้ามาใกล้กับดักกาวอีก การป้องกันมดด้วยกับดักกาวจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก
- แม้ประสิทธิภาพการกันมดของแผ่นกาวกันมดจะดีมาก แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าสัตว์ที่ถูกกาวดักจับมักจะตาย หากเราปล่อยหรือช่วยไม่ทัน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างโหดร้ายมากสำหรับคนที่ไม่อยากฆ่าสัตว์
- การใช้แผ่นกาวกันมดและแมลงมักจะใช้เป็นครั้งๆไป เช่น ถ้าเราวางแผ่นกาวไว้ข้ามคืน แล้วมีแมลงสาปมาติดอยู่บนแผ่นกาวเพียงตัวเดียว เราจำเป็นต้องนำแผ่นกาวไปทิ้งแล้ววางแผ่นกาวแผ่นใหม่ใช่หรือไม่? คงไม่มีใครวางแผ่นกาวที่มีแมลงสาปติดอยู่เป็นอาทิตย์ไว้ในบ้าน ดังนั้น ความทนทานจึงมีน้อย เพราะต้องใช้แล้วทิ้งและเปลี่ยนแผ่นกาวบ่อยๆ
- ผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นของต่างประเทศ หากต้องการใช้งานต้องนำเข้าโดยเสียค่าส่งที่แพงกว่าตัวผลิตภัณฑ์ ลองค้นใน amazon.com ดูได้เลย

9. ซิลิโคนกันมด (Sealing Silicone)
หลักการกันมด
ซิลิโคนกันมดใช้หลักการปิดทางเข้าของมด มดจะเข้าบ้านของเราผ่านทางประตู หน้าต่าง ช่องว่างตามพื้น รวมถึงรอยแตกรอยแยกตามกำแพงน้อยใหญ่ หากเราปิดช่องว่างตามพื้นและรอยแตกตามกำแพงทั้งด้านนอกและด้านในจะช่วยลดโอกาสที่มดจะเข้าบ้านผ่านช่องทางนี้ ดังนั้น มดอาจจะหาทางเข้าไม่ได้หรืออาจจะเลือกเข้าบ้านผ่านช่องทางปกติ เช่น หน้าต่าง ประตู ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นและรับมือการบุกของมดได้ง่ายกว่ามาก
การใช้งาน
บีบซิลิโคนเหลวจากหลอดเพื่อหยอดปิดช่องหรือรอยแยกต่างๆ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ซิลิโคนจะแข็งตัวและปิดสนิท หลายท่านอาจสงสัยว่า “ทำไมเราต้องปิดช่องหรือรอยแยกตามกำแพง?” เหตุผลคือ ช่องและรอยแยกต่างๆเป็นประตูให้มดเข้าบ้านของเราได้แบบเงียบๆโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งซิลิโคนสามารถใช้อุดช่องและรอยแยกตามกำแพงได้เป็นอย่างดี
ข้อดี
- ซิลิโคนเป็นวัสดุที่ค่อนข้างเฉื่อย กล่าวคือถ้าแห้งดีแล้วจะไม่ค่อยทำปฏิกิริยากับอากาศ แสงแดดและน้ำ ประกอบกับบริเวณที่เรามักจะใช้งานกันจะเป็นส่วนของกำแพงซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารและน้ำที่ใช้บริโภค ดังนั้น ความปลอดภัยจัดอยู่ในระดับสูง
- ซิลิโคนกันมดมีประสิทธิภาพในการปิดรอยแยกเพื่อกันมดเข้าบ้านสูง ปิดช่องและรอยแยกได้สนิท หลังจากที่แห้งแล้วจะมีประสิทธิภาพในการทนแดด ทนฝน ไม่รั่ว ไม่ซึมและทนความร้อนความเย็นได้เป็นอย่างดี
- หยอดรอยแตกตามกำแพงแล้วอยู่ได้นานหลายปี ความทนทานสูง
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์
- หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป
ข้อเสีย
- ราคาค่อนข้างสูง (แต่ก็คุ้มนะ)

10. น้ำมันพืช (Vegetable Oils)
หลักการกันมด
น้ำมันพืชเป็นสารที่มีความมันและมีความหนืดจึงใช้เป็นสารกันมดได้เพราะว่ามดไม่สามารถเดินผ่านหรือว่ายผ่านน้ำมันได้
การใช้งาน
เนื่องจากน้ำมันพืชเป็นของเหลว การใช้งานสำหรับกันมดจึงจำเป็นต้องมีภาชนะ ไม่ว่าจะใช้เติมใส่ถ้วยรองขาตู้กับข้าวหรือชามกันมดของน้องหมาน้องแมวก็ได้
ข้อดี
- ราคาไม่แพง มีอยู่แล้วทุกบ้าน กันมดได้ทันทีไม่ต้องรอนาน
- น้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารอยู่แล้วจึงมีความปลอดภัยสูงต่อทั้งคนและสัตว์เลี้ยง
- กันมดได้ดี มีความมันความหนืดและไม่ระเหยเหมือนน้ำ จึงมีความทนทานในการกันมดสูงกว่าน้ำธรรมดา
- ไม่ต้องดูแลมาก ประหยัดเวลาในการซ่อมบำรุง
ข้อเสีย
- จำเป็นต้องมีภาชนะบรรจุเพื่อใช้สำหรับกันมด ไม่สามารถใช้ทาที่พื้นผิวต่างๆได้โดยตรง เพราะเป็นของเหลวและมีความเยิ้ม
- เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย เช่น ฝุ่นลง มีเศษขยะหล่นลงไป ทำให้ประสิทธิภาพการกันมดลดลง
- ถ้าใช้เติมถ้วยรองขาตู้กับข้าวก็อาจดูเลอะเทอะไม่เรียบร้อย
- ทำปฏิกิริยากับอากาศ ความร้อนและแสง เกิดกลิ่นเหม็นหืนและแห้งได้ (แห้งแล้วจะกันมดไม่ได้)
- มีโอกาสหกเลอะเทอะ หากมีคนไปเดินเตะภาชนะบรรจุ
- แม้น้ำมันจะกันมดได้ทนกว่าน้ำ แต่เมื่อเทียบกับสารกันมดแบบผงที่ต้องใส่ภาชนะเหมือนกัน ความทนทานถือว่าน้อยกว่ามาก (น้ำมันในถ้วยจะกันมดได้ 3-6 เดือน ส่วนสารกันมดแบบผงจะกันมดได้ 3 ปีขึ้นไป)

11. น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน (Soap or Dish Washing Water)
หลักการกันมด
ใช้หลักการเดียวกันกับการใช้น้ำกันมด คือ การป้องกันมดว่ายข้ามไปยังเป้าหมาย ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านคงเคยใช้สบู่กันอยู่เป็นประจำ เวลาเรามีเหงื่อไคล หน้ามัน ตัวเหนียว การฟอกสบู่จะช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ถ้าท่านเคยดูคลิปวีดีโอเกี่ยวกับมดในน้ำมาบ้าง จะพบว่ามดมีความสามารถและสัญชาตญาณเอาตัวรอดจากการจมน้ำสูงมาก แม้เราจะพยายามกดมดให้จมลงไปในน้ำด้วยวิธีการต่างๆมดจะสามารถลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำก่อนจะจมน้ำตาย ยิ่งไปกว่านั้น มดบางชนิดสามารถเดินบนผิวน้ำได้ เพราะน้ำหนักตัวที่น้อยมากประกอบกับน้ำมีแรงตึงผิว ผิวน้ำจึงเปรียบเสมือนพื้นบางๆให้มดเดินได้
สรีระของมดจะเหมือนแมลงทั่วไปคือ เป็นสัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้มอวัยวะภายใน เปลือกแข็งของมดจะห่อหุ้มหรือเคลือบไปด้วยไขมัน เพื่อให้ไม่มดตัวแห้งและมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา หากมดเดินลงน้ำ ไขมันที่เคลือบเปลือกแข็งจะเป็นเกราะป้องกันน้ำเข้าสู่ร่างกายของมดได้เป็นอย่างดี เพราะน้ำมันกับน้ำจะแยกตัวออกจากกันเสมอ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หากมดลงไปว่ายในน้ำสบู่ เนื่องจากน้ำสบู่มีคุณสมบัติทำให้แรงตึงผิวของน้ำลดลง มดจะไม่สามารถเดินบนผิวน้ำสบู่ได้และจะจมลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับคุณสมบัติในการชำระล้างไขมันออกจากผิว ส่งผลให้ไขมันที่เคลือบเปลือกหุ้มร่างกายของมดหายไป มดจะไม่มีไขมันปกป้องน้ำที่จะไหลเข้าสู่ร่างกายได้ น้ำหนักตัวมดจะเยอะขึ้นจากน้ำที่ซึมเข้าไปและจมน้ำสบู่ได้อย่างง่ายดาย
การใช้งาน
- ด้วยเหตุผลที่น้ำสบู่เป็นของเหลว การใช้งานจำเป็นต้องมีภาชนะบรรจุ เช่น ถ้วยรองขาโต๊ะ ขาตู้ ถาด ร่องเติมน้ำบนชามน้องหมาน้องแมว เป็นต้น
ข้อดี
- ทำได้ง่ายที่บ้าน
- ราคาถูกมาก
- ยุงไม่สามารถวางไข่ในน้ำสบู่ จึงการันตีได้ว่าไม่เกิดลูกน้ำ ไม่เกิดยุงแน่นอน
- กันมดได้มีประสิทธิภาพ มดที่ลงน้ำสบู่การันตีได้ค่อนข้างแน่นอนว่าม้วย
ข้อเสีย
- ไม่สามารถใช้ได้หากไม่มีภาชนะบรรจุที่เหมาะสม
- ระเหยและแห้งได้ง่าย เพราะเป็นน้ำ ความทนทานมีน้อย ต้องดูแลและเติมน้ำสบู่บ่อยๆ
- ไม่เหมาะกับการใช้กันมดเพื่อรองชามอาหารสัตว์ เพราะน้องอาจเผลอเลียกินเข้าไปหรือหากมีอาหารหล่นลงในน้ำสบู่ น้องก็อาจจะกินอาหารที่ปนเปื้อนน้ำสบู่ก็เป็นได้

12. วาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly)
หลักการกันมด
วาสลีนเป็นสารที่เหลือและได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ มีคุณสมบัติในการปกปิดเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง หลายท่านเข้าใจผิดว่าวาสลีนให้ความชุ่มชื่นกับผิวหนังแต่แท้จริงแล้ววาสลีนใช้วิธีการปกปิดเพื่อไม่ให้ความชุ่มชื้นระเหยออกไปเท่านั้น
วาสลีนจะใช้หลักการกันมดเหมือนสารตัวอื่นๆคือ เอาไว้ทากันมดเดินผ่าน มดจะเดินผ่านวาสลีนไม่ได้ เพราะวาสลีนมีความเหนียวจึงสามารถดักมดหรือหยุดการเคลื่อนไหวของมดได้
การใช้งาน
เราสามารถใช้วาสลีนทาตามพื้นที่ต่างๆเพื่อกันมด เช่น ขาโต๊ะ ขาตู้ ขอบหน้าต่างและชามน้องหมาน้องแมว
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่ายมีขายทั่วไป
- ราคาไม่แพงจับต้องได้
- ใช้กันมดได้หลายรูปแบบ เพราะทาแล้วติดที่พื้นผิวได้
- สะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้ภาชนะบรรจุ เพราะไม่ใช่ของเหลวหรือเป็นผง
- ปลอดภัยในระดับเครื่องสำอาง คือ สัมผัสกับผิวหนังได้อย่างปลอดภัย
ข้อเสีย
- อาจไม่เหมาะนักสำหรับการใช้ทาชามน้องหมาน้องแมวเพื่อกันมด เพราะวาสลีนมีความปลอดภัยในระดับเครื่องสำอาง อาจเกิดการปนเปื้อนกับอาหารสัตว์ หากบริโภคหรือรับเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ตั้งใจ อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยต่อสัตว์เลี้ยงได้
- ความทนทานในการกันมดน้อย วาสลีนจะแห้งและหมดประสิทธิภาพในการกันดภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมและพิ้นผิวที่ทา
- สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า ทำให้เราจำเป็นต้องเช็ดวาสลีนออกและทาใหม่บ่อยๆ ค่อนข้างเสียเวลาในการดูแลและซ่อมบำรุง
- หากจุดที่วาสลีนเพื่อกันมดมองเห็นได้ง่าย ก็อาจดูเลอะเทอะ ไม่เรียบร้อยสวยงาม

13. สีกันมด (Ant Proof Paint)
หลักการกันมด
สีกันมดจะมีอยู่ 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
- ชนิดแรกจะเป็นสีที่มีโครงสร้างพิเศษ หากทาบนพื้นผิวใดๆ เช่น ผนังหรือกำแพง ในความหนาที่มากพอจะทำให้มดไต่ขึ้นไม่ได้ เพราะพื้นผิวมีความลื่น มดเกาะไม่อยู่
- ชนิดที่สองจะเป็นสีหรือสารผสมสีที่เป็นยาฆ่าแมลงประเภทไพรีทรอยด์ เช่น เดลต้าเมทริน มีประสิทธิภาพในการกันมด แมลงสาป ยุง แมงมุมหรือแมลงชนิดอื่นๆด้วยการทำลายระบบประสาท แมลงที่เกาะหรือสัมผัสกับสีจะตายในระยะเวลาอันสั้น
การใช้งาน
ใช้งานตามประเภทของสีแต่ละชนิด
- สีกันมดชนิดทำให้ลื่นสามารถทาบ้านได้เหมือนสีทั่วไป เพราะไม่ได้มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง
- สีกันมดชนิดผสมยาฆ่าแมลง ต้องจำกัดการใช้งานหรือใช้งานอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นกับน้ำและอาหาร พื้นที่ใช้งานจะเป็นบริเวณที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกับอาหารและน้ำ เช่น โรงรถ หลังตู้ ผนังใกล้พื้น โดยใช้ทาได้บางพื้นที่ที่จำเป็นต้องกันมดและแมลงและไม่สามารถใช้แทนสีทาบ้านปกติได้ เพราะคนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้านคงไม่ปลอดภัยเท่าใดนัก หากมียาฆ่าแมลงอยู่ตามผนัง กำแพงและเพดานทุกๆพื้นที่ของบ้าน
ข้อดี
สีกันมดประเภททำให้ลื่น
- กันมดได้พื้นที่เป็นบริเวณกว้างเท่าไหร่ก็ได้
- กันมดได้นาน ระยะเวลากันมดยาวนานเป็น 10 ปี เหมือนสีทาบ้าน
- สะดวกและใช้งานง่าย แห้งไม่เหนียวเหนอะหนะ
สีกันมดประเภทผสมยาฆ่าแมลง
- กันมดและแมลงชนิดอื่นได้ด้วย
- กันมดได้ยาวนานถึง 5 ปี
- ใช้งานง่ายเพียงทาแล้วรอให้แห้งก็กันมดได้แล้ว
- มีประสิทธิภาพในการกันมดและแมลงสูง (มดและแมลงที่เดินผ่านสีจะตาย)
- ยืดหยุ่นสูง เราสามารถเลือกทาในจุดที่ต้องการได้
ข้อเสีย
สีกันมดประเภททำให้ลื่น
- ยังไม่มีการผลิตจริง หาซื้อไม่ได้
สีกันมดประเภทผสมยาฆ่าแมลง
- เป็นอันตรายต่อคน เด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง (เป็นอันตรายต่อแมวและสัตว์น้ำมากเป็นพิเศษ) จึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง
- ใช้ได้ในพื้นที่จำกัด ใช้ในพื้นที่เปิดทั่วไปไม่ได้ เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัส
- ประสิทธิภาพการกันเสื่อมลงได้ง่าย หากถูกความร้อนหรือแสงแดดบ่อยๆ จึงเหมาะสำหรับใช้ทาภายในบ้านเท่านั้น

14. เทปกันมด
หลักการกันมด
เทปกันมดเป็นเทปที่มีส่วนผสมของสารกำจัดแมลงประเภทไพรีทรอยด์ ไพรีทรอยด์เป็นสารกำจัดแมลงยอดนิยมที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลง หากท่านมีเวลาไปเดินดูตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำจะพบสารชนิดนี้ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลงหลายยี่ห้อ
เนื่องจากเทปกันมดมีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ จึงมีความเป็นพิษต่อมดและแมลงหลายชนิด แม้จะมีการให้ข้อมูลว่าไพรีทรอยด์เป็นพิษต่อแมลงและปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สารชนิดนี้จัดเป็นสารอันตรายในระเบียนของสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาหรือ อย. ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีส่วนผสมของสารตัวนี้ ต้องมีการขออนุญาตจาก อย. ก่อนนำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด
การใช้งาน
ใช้แปะติดหริอพันเพื่อป้องกันมดเดินผ่านบริเวณที่ต้องการ เช่น ขาโต๊ะ ขาตู้กับข้าว มดที่เดินผ่านเทปกันมดจะตายในระยะเวลาอันสั้นเนื่องพิษจะเข้าไปทำลายระบบประสาทของแมลงอย่างรวดเร็ว
ข้อดี
- ความยืดหยุ่นสูง ใช้กับหน้างานเพื่อกันมดได้หลายรูปแบบ
- ป้องกันแมลงชนิดอื่นได้ด้วย
- ใช้งานง่ายกันมดได้ทันที หลังจากแปะติดหรือพัน
- ราคาไม่แพง
- หาซื้อได้ง่าย
ข้อเสีย
- เป็นพิษต่อคน เด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง เป็นพิษมากกับแมวและสัตว์น้ำ
- เสื่อมประสิทธิภาพได้ง่ายหากโดนน้ำ ความร้อนและแสงแดดบ่อยๆ
- ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะตัวเทปเป็นพลาสติกย่อยสลายได้ยาก
- อันตรายจากพิษของไพรีทรอยด์ต่อสัตว์น้ำมีแนวโน้มรุนแรงหากเทปถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

15. น้ำมันหอมระเหย
หลักการกันมด
น้ำมันหอมระเหยจัดเป็นสารกันมดที่มีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตาม กลิ่นหอมสำหรับเรานั้นคือกลิ่นฉุนรุนแรงที่มดไม่ชอบ เพราะมดใช้กลิ่นฟีโรโมนในการติดต่อสื่อสารกัน โดยมดจะทิ้งกลิ่นฟีโรโมนแต่ละแบบไว้ในทุกที่ที่มดเดินผ่าน
ถ้ามดเดินออกจากรังไปหาอาหาร มดจะทิ้งฟีโรโมนกลิ่นหนึ่งเพื่อใช้นำทางตอนกลับรัง ถ้าตรงไหนมีอาหารมดก็จะทิ้งกลิ่นฟีโรโมนไว้ให้มดตัวอื่นรู้ว่าตรงนี้มีอาหาร ถ้ามดเจอสิ่งที่เป็นอันตรายมดก็จะทิ้งกลิ่นฟีโรโมนอีกแบบหนึ่งเอาไว้แจ้งเตือนมดตัวอื่นว่าอันตรายนะอย่าเข้าใกล้ ดังนั้น ฟีโรโมนมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมดมาก
หากฟีโรโมนที่มดทิ้งไว้ถูกทำลายหรือกลบด้วยกลิ่นน้ำมันหอมระเหย กลุ่มมดจะสับสนและสื่อสารกันไม่ได้ เช่น เราใช้น้ำมันหอมระเหยฉีดพ่นบริเวณทางมดเดิน กลิ่นฟีโรโมนที่มดทิ้งไว้เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการกลับรังจะถูกทำลาย มดจะหาทางกลับรังไม่ถูก สื่อสารกันในกลุ่มไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความสับสนอลหม่านในกลุ่มมดและอาจส่งผลให้มดตายเพราะกลับรังไม่ได้
การใช้งาน
เราสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้ำมันหอมระเหย 15 หยดต่อน้ำ 60 มิลลิลิตร โดยอัตราส่วนในการผสมอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย ผสมในขวดฉีดน้ำฝอยหรือ foggy จากนั้นนำไปพ่นบริเวณที่มดเดินผ่านหรือบริเวณที่เราต้องการป้องกันมด เช่น เคาเตอร์ในครัว กำแพง กรอบประตู กรอบหน้าต่าง เน้นย้ำว่าหลังผสมและนำไปพ่นแล้วต้องมีกลิ่นหอมชัดเจนระดับหนึ่ง เพื่อให้กลบกลิ่นฟีโรโมนของมดได้
ข้อดี
- เป็นสารกันมดที่มีกลิ่นหอมดมแล้วรู้สึกดี
- หาซื้อได้ง่าย
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ระดับหนึ่ง
- ประหยัด สามารถฉีดพ่นบนพื้นที่กว้างๆได้โดยไม่สิ้นเปลือง
ข้อเสีย
- ความทนทานน้อย หากต้องการให้กันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องพ่นซ้ำทุก 1-2 สัปดาห์
- ราคาค่อนข้างสูง ขวดเล็ก 10 มิลลิลิตร ราคา 300 – 400 บาท

16. น้ำส้มสายชู
หลักการกันมด
น้ำส้มสายชูเป็นของเหลวที่มีกลิ่นแรงเฉพาะตัว ซึ่งกลิ่นแรงเฉพาะตัวนี้สามารถกลบกลิ่นฟีโรโมนของมดได้โดยการนำไปฉีดพ่นบริเวณที่มดเดิน อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไว้หลายรอบก่อนหน้า มดใช้ฟีโรโมนในการดำรงชีวิต เช่น การติดต่อสื่อสารกับมดตัวอื่น การเดินทาง การหาน้ำและอาหาร ถ้ากลิ่นฟีโรโมนของมดหายไป มดจะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ สุดท้ายมดต้องถอยและย้ายหนีไปในที่สุด
การใช้งาน
ผสมน้ำส้มสายชูขาวกับน้ำธรรมดาในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใส่ลงในขวดทำน้ำฝอยหรือ foggy จากนั้นนำไปฉีดพ่นบริเวณที่ต้องการกันมดหรือบริเวณที่ไม่ต้องการให้มดเดินผ่าน
น้ำส้มสายชูที่กลิ่นแรงกว่าจะมีประสิทธิภาพการกันมดที่ดีกว่าน้ำส้มสายชูที่กลิ่นอ่อนกว่า หากเราต้องการน้ำส้มสายชูที่กลิ่นแรงกว่าน้ำส้มสายชูขาว (White Vinegar) ให้เลือกใช้น้ำส้มสายชูที่หมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทีมีราคาสูงกว่าน้ำส้มสายชูแบบไทยๆ
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่ายตามร้านทั่วไป
- ราคาไม่แพง สำหรับน้ำส้มสายชูขาว (แต่ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลขวดหนึ่งราคาหลายร้อยและต้องซื้อตามซูเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆเท่านั้น)
- ใช้งานง่ายเพียงผสมแล้วพ่นลงบนพื้นที่ที่ต้องการกันมด
- ประหยัด สามารถฉีดพ่นบนพื้นที่กว้างๆได้โดยไม่สิ้นเปลือง
ข้อเสีย
- กลิ่นน้ำส้มสายชูกันมดได้จริงแต่ไม่ใช่กลิ่นหอมหรืออาจจะเป็นกลิ่นเหม็นสำหรับบางคนก็ได้
- ความทนทานน้อย เพื่อให้ประสิทธิภาพการกันมดดีต้องฉีดพ่นอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ครั้ง
- ใช้เวลาพ่นซ้ำหรือซ่อมบำรุงค่อนข้างบ่อย

17. ไดอะตอมมาเชียสเอิร์ทหรือดินเบา
หลักการกันมด
ไดอะตอมมาเชียสเอิร์ทหรือดินเบาเป็นสารธรรมชาติที่ได้จากตกตะกอนและการสะสมของซากสาหร่ายทะเลเซลเดียวผ่านระยะเวลาหลายปีจนกลายเป็นของแข็ง สารชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1836 และถูกนำมาบดเป็นผงเพื่อใช้เพื่อในการควบคุมแมลงครั้งแรกในปี ค.ศ. 1960
ดินเบามีลักษณะเป็นผงสีออกขาวมีประสิทธิภาพในการกันมดและแมลงชนิดอื่นๆ สำหรับมนุษย์ดินเบาเหมือนผงแป้งทั่วไป แต่สำหรับแมลงดินเบาเปรียบเสมือนเสี้ยนมีคมอันเล็กที่แทงทะลุเข้าไปในชั้นไขมันที่ปกคลุมเปลือกแข็งของแมลงจากนั้นจะดูดซับไขมันและความชุ่มชื้นจากตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการขาดน้ำและตายในที่สุด
อันตรายของดินเบาต่อมดอีกอย่างหนึ่งคือ ดินเบาสามารถเข้าไปอุดช่องหายใจที่อยู่ข้างลำตัวของมด ทำให้มดขาดอากาศหายใจและตายอย่างรวดเร็ว
การใช้งาน
การใช้งานดินเบาหรือไดอะตอมมาเชียสเอิร์ทเพื่อป้องกันมด จะคล้ายกับการใช้สารกันมดที่มีลักษณะเป็นผงทุกชนิด
- ใช้โรยตามทางเดินมด ขอบประตู ขอบหน้าต่างเพื่อไม่ให้มดเดินผ่าน
- ใส่ภาชนะเพื่อใช้รองขาโต๊ะ ขาตู้
ข้อดี
- ปลอดภัยต่อคนและสัตว์เพราะเป็นสารธรรมชาติ
- ความทนทานสูง กันมดได้นาน หากดินเบาไม่ชื้นหรือมีสิ่งปนเปื้อน
- ราคาไม่แพง
- หาซื้อได้ง่าย
- ใช้เวลาในการดูแลและซ่อมบำรุงน้อย ในกรณีที่ใช้กับภาชนะรองขาตู้
- ใช้กับชามอาหารสัตว์ได้เพราะมีความปลอดภัยระดับเกรดอาหาร
ข้อเสีย
- หากใช้ใส่ถ้วยเพื่อรองขาตู้อาจทำให้เฟอร์นิเจอร์ดูเลอะไม่เรียบร้อยสวยงาม
- มีความจำเป็นต้องใช้ภาชนะบรรจุ เช่น ถ้วยรองขาตู้ เพื่อการกันมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความทนทานในการกันมดน้อย หากใช้โรยตามกรอบหน้าต่าง กรอบประตู เพราะเป็นผงฟุ้งกระจายและลมพัดปลิวหายได้ง่าย
- หากใช้กับชามอาหารสัตว์เลี้ยง มีโอกาสฟุ้งกระจายและปนเปื้อนกับอาหารสัตว์เลี้ยงได้ง่ายเพราะมีลักษณะเป็นผง
สรุป
เราได้ทราบถึงข้อมูลสารกันมดที่ใช้กันมดภายในบ้านกันไปแล้ว ส่วนที่ผู้เขียนอยากจะฝากไว้เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยและการป้องกันมดได้อย่างรวดเร็ว เห็นผลและมีประสิทธิภาพมีดังต่อไปนี้
- การเลือกใช้สารกันมดและวิธีกันมดที่เหมาะสมจะช่วยให้การกันมดมีประสิทธิภาพและเห็นผลได้ชัดเจน
- การป้องกันมดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและน้ำไม่ว่าของคนหรือสัตว์ ไม่ควรใช้สารกันมดที่มีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง
- หลายครั้งที่ปัญหามดขึ้นภายในบ้านไม่สามารถใช้สารกันมดเพียงชนิดเดียวหรือวิธีการเดียวในการจัดการได้สำเร็จ เราจำเป็นต้องใช้สารกันมดและวิธีกันมดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละหน้างานร่วมกัน โดยเริ่มตั้งแต่การปิดช่องทางเข้าบ้านของมด การป้องกันอาหารและน้ำภายในบ้าน การป้องกันมดขึ้นชามอาหารสัตว์
- ถ้ามดเข้าบ้านของเราผ่านทางรอยแตกของกำแพง สารกันมดที่เราควรใช้คือ ซิลิโคนกันมด โดยใช้ปิดรอยแยกรอยแตกไม่ให้มดเข้าบ้านได้
- ถ้ามดเข้าบ้านทางประตูหน้าต่าง สารกันมดที่ใช้ควรจะเป็นน้ำมันหอมระเหยฉีดหรือสารกันมดแบบผงเพื่อใช้กลบกลิ่นฟีโรโมนของมด
- ป้องกันมดขึ้นอาหารและน้ำโดยใช้เจลกันมดทาขาตู้กับข้าวและโต๊ะอาหาร
- ป้องกันมดขึ้นชามอาหารสัตว์โดยใช้ถาดกันมดหรือแผ่นกันมด
- พยายามป้องกันมดให้ครบทุกมิติ ในที่สุดมดจะยอมแพ้และย้ายหนีไป โดยที่ไม่ต้องฆ่าฟันกันหรือใช้ยาฆ่าแมลง