มดขึ้นบ้านเป็นปัญหาสามัญสำหรับทุกบ้าน โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย เราจะพบมดได้ทั่วไปภายในบ้านตั้งแต่โต๊ะกินข้าว ตู้กับข้าว เตียงนอน ถังขยะจนถึงในห้องน้ำ
การจัดการมดขึ้นมีหลากหลายวิธี สิ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกันคือ การกำจัดมดโดยใช้ยาฆ่ามด ซึ่งวิธีการกำจัดก็ขึ้นอยู่กับจุดที่มดขึ้นและความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่ใช้หน้างาน บางบ้านใช้สเปรย์กำจัดแมลงฉีดพ่นบริเวณที่มดเดินไปมา บ้างใช้ชอล์กขีดกันมดเดิน มดขึ้นโต๊ะอาหาร และขึ้นตู้กับข้าว
หากท่านกำลังมองหาวิธีกำจัดมดในบ้านแบบตายยกรัง บทความนี้จะมีคำตอบในหลายมิติ ประกอบการพิจารณาก่อนใช้วิธีนี้ครับ
วิธีกำจัดมดที่เป็นที่นิยมสูงวิธีหนึ่ง คือ การใช้ยาฆ่ามด ยากำจัดมดหรือเรียกอีกอย่างหนึงว่า “เหยื่อล่อมด” ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น แบบผงโรย แบบน้ำ แบบเจลและแบบกล่อง
กลไลในการกำจัดมดของยาฆ่ามด
ยาฆ่ามดที่ใช้กำจัดมดภายในบ้านอาจเรียกได้ว่าเป็น “การวางยาพิษโดยใช้เหยื่อล่อมด” เพื่อให้มดตายยกรัง โดยมีกลไกในการกำจัดตามลำดับดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้วางยาฆ่ามดหรือวางเหยื่อไว้บนทางที่มดเดินผ่านหรือบริเวณที่กลุ่มมดได้กลิ่นและเข้าถึงได้ง่าย
- หลังจากที่มดเห็นเหยื่อแล้ว มดจะกินเหยื่อส่วนหนึ่งและนำเหยื่ออีกส่วนหนึ่งกลับไปแบ่งเพื่อนกินที่รัง
- มดที่กินเหยื่อจะไม่ตายทันที เหยื่อมักจะออกฤทธิ์หลังจากที่มดกินเหยื่อแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- มดที่กินเหยื่อก่อนจะตายก่อน ซากมดที่ตายแล้วจะเป็นอาหารของมดตัวอื่นๆในรัง ซึ่งมดที่กินซากมดตาย ก็จะได้รับพิษไปด้วย
- มดทั้งรังมักจะตายหมดภายใน 24 ชั่วโมงจนถึง 3 สัปดาห์ ขึ้นกับจำนวนของมด สายพันธุ์ของมดและชนิดของเหยื่อล่อมด
- หลังจากนั้นจะไม่มีมดมาเดินเผ่นผ่าน ขึ้นอาหารและน้ำของเราไปอีกระยะหนึ่ง (ลดจำนวนลงมากหรือตายหมด)
ส่วนผสมสำคัญของยาฆ่ามด
ส่วนผสมสำคัญหลักของยาฆ่ามด มี 2 ส่วนดังต่อไปนี้
- ยาพิษ (active ingredients หรือ toxicant) ได้แก่ สารกำจัดแมลงชนิดต่างๆ
- สิ่งดึงดูด (attractant) เช่น น้ำตาล โปรตีน น้ำมัน
ส่วนผสมทั้ง 2 ส่วนนี้จะถูกนำมาผสมกันอย่างลงตัว เพื่อวัตถุประสงค์ของการให้มดพบเหยื่อ เข้าหาเหยื่อ กินเหยื่อ นำเหยื่อกลับไปทีรังและออกฤทธิ์จนมดตายหมดทั้งรังในระยะเวลาไม่นาน
ประเภทของยาฆ่ามด
ยาฆ่ามดหรือยากำจัดมดตามท้องตลาดปัจจุบันแบ่งได้เป็น 4 ประเภท
1. ผงกำจัดมด ผงฆ่ามด เหยื่อล่อมดแบบผง (Powder Ant Bait)
มีลักษณะเป็นผง ใช้โรยบริเวณที่มดเดินผ่านหรือใส่ในภาชนะบางชนิดป้องกันการฟุ้งกระจาย เพื่อให้มดกินเหยื่อและนำเหยื่อกลับไปที่รัง
ข้อดี
- หาซื้อได้ง่ายมีขายทั่วไป
- ราคาถูกมากที่สุดในบรรดาเหยื่อล่อมดทุกประเภท
- ใช้ผสมกับอาหารชนิดอื่นให้เข้ากันได้ดีเพราะมีลักษณะเป็นผง
- ไม่แห้งไวหรือเสื่อมประสิทธิภาพในการล่อมดง่าย
ข้อเสีย
- เกิดการฟุ้งกระจายหรือเปลี่ยนที่ได้ง่ายเนื่องจากมีลักษณะเป็นผง ทำให้ควบคุมพื้นที่การวางเหยื่อค่อนข้างลำบาก
- ผงที่ฟุ้งกระจายอาจเกิดการปนเปื้อนกับอาหารและน้ำของสัตว์เลี้ยงได้ง่าย
- มักต้องใช้เหยื่อในปริมาณค่อนข้างมาก

2. เจลฆ่ามด เจลกำจัดมด เหยื่อล่อมดแบบเจล (Gel Ant Bait)
มีลักษณะเป็นเจล ใช้ป้ายหรือทาบนพื้นผิวต่างๆโดยตรง ป้ายบนกระดาษแข็งหรือใส่ในภาชนะบางประเภทที่เตรียมไว้ เพื่อให้มดมากินแล้วนำเหยื่อกลับไปที่รัง
ข้อดี
- ใช้ป้ายหรือหยดบนพื้นที่ต่างๆได้ โดยไม่ต้องใช้ภาชนะ เพราะไม่เกิดการฟุ้งกระจาย
ข้อเสีย
- หากหยดเจลทิ้งไว้เหยื่อจะแห้ง ประสิทธิภาพในการล่อมดเข้าหาลดลงมาก
- การใช้งานแบบเปิดโล่งหรือไม่มีภาชนะแบบปิดบรรจุ มีความเสี่ยงสูงที่เด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงจะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

3. น้ำยาฆ่ามด น้ำยากำจัดมด เหยื่อล่อมดแบบน้ำ (Liquid Ant Bait)
มีลักษณะเป็นของเหลวที่มีความเหนียวข้น (คล้ายเจลแต่เหลวกว่า) ใช้หยดลงบนกระดาษแข็ง เพื่อให้มดมากินแล้วนำเหยื่อกลับไปที่รัง
ข้อดี
- เหยื่อล่อมดที่เป็นของเหลวมักจะใช้ล่อมดได้ง่าย เพราะส่งกลิ่นได้ดี มดกินและขนเหยื่อกลับรังได้ง่ายมาก
- มักจะแห้งช้ากว่าเหยื่อแบบเจล ทำให้ล่อมดได้ยาวนาน
ข้อเสีย
- ไม่สามารถหยดบนพื้นผิวได้โดยตรง เพราะมักจะไหลเยิ้มและทำให้สกปรกเลอะเทอะ
- จำเป็นต้องมีภาชนะรองรับ
- การใช้งานแบบเปิดโล่งหรือไม่มีภาชนะแบบปิดบรรจุ มีความเสี่ยงสูงที่เด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงจะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

4. เหยื่อล่อมดแบบกล่อง (Ant Bait Station)
มีลักษณะเป็นกล่องเจาะรูพอให้มดเดินผ่านเข้าไปหาเหยื่อได้ (ภาชนะแบบปิด) โดยมีเหยื่อล่อมดบรรจุอยู่ด้านในกล่อง เหยื่อที่อยู่ด้านในอาจจะอยู่ในรูปแบบผง ของเหลวหรือเจลก็ได้ ขึ้นกับการออกแบบของผู้ผลิต
ข้อดี
- มีความปลอดภัยมากกว่าเหยื่อแบบใส่ภาชนะเปิดโล่ง เพราะเหยื่อที่เป็นพิษอยู่ด้านในกล่อง ไม่สามารถฟุ้งกระจายและปนเปื้อนเข้าสู่อาหารและน้ำได้ง่ายๆ
- ใช้งานง่ายไม่จำเป็นต้องหาภาชนะบรรจุ เพราะมีมาให้แล้ว
- กล่องใส่เหยื่อล่อมดบางยี่ห้อเป็นแบบเติมได้ เราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ
ข้อเสีย
- ราคาสูงกว่าเหยื่อแบบที่ไม่มีกล่อง
ส่วนผสมสำคัญและการออกฤทธิ์ของยาฆ่ามด
สารออกฤทธิ์ในยาฆ่ามด จัดอยู่ในหมวดหมู่ของสารกำจัดแมลง (insecticide) แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
- สารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของมด ทำให้เป็นอัมพาตและตายอย่างช้าๆ
- สารออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของมด ขัดขวางกระบวนการสร้างพลังงานในเซล ส่งผลให้มดตายอย่างช้าๆ
ตัวอย่างสารออกฤทธิ์ของยากำจัดมด
จริงๆแล้วสารออกฤทธิ์สำหรับยาฆ่ามดมีหลายชนิดมากๆ ที่ผู้เขียนได้รวบรวมไว้ในบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากฉลากของยาฆ่ามดที่ใช้กันในประเทศไทย รวมถึงสารออกฤทธิ์ที่นิยมใช้ในยากำจัดมดในต่างประเทศ
ตัวอย่าง
- ซันเจี่ยแบบหลอดเนื้อเจล เดลต้าเมทริน (Deltamtrin) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
- ซันเจี่ยแบบผง ไฮดราเมทิลนอน (hydramethylnon) ออกฤทธิ์ต่อระบบเผาผลาญอาหาร
- ไบเออร์ควอนตั้ม อิมิดาโคลพริด (Imidaclopid) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
- เจลกำจัดมดต่างประเทศ ไทอะมีทอกแซม (thiamethoxam) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
- เจลกำจัดมดต่างประเทศ สารบอแร็กซ์ (Sodium Tetraborate decahydrate หรือ Borax) ออกฤทธิ์ต่อระบบเผาผลาญอาหาร
รวบรวมไว้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้เรารู้ว่าเรากำลังใช้อะไรอยู่? หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้แจ้งกับแพทย์ สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้
ปัญหาของยาฆ่ามด
1. มดไม่กินเหยื่อ
สาเหตุ
- เหยื่อเสื่อมประสิทธิภาพ ล่อมดไม่ได้ เพราะถูกทิ้งไว้นานเกินไปจนแห้งหรือผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาเก่า หมดอายุ
- มีแหล่งอาหารอื่นในบ้านที่สมบูรณ์กว่า เช่น อาหารบนโต๊ะ ในตู้กับข้าวหรือบนเคาเตอร์
- มดเรียนรู้ได้ว่าเหยื่อมีพิษ มดอาจจะเคยกินเหยื่อล่อชนิดนี้แล้วพบว่าเป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีแก้ปัญหา
- วางเหยื่อที่มีความสดใหม่หรือถ้าพบผลิตภัณฑ์หมดอายุให้เคลมหรือซื้อใหม่
- ใช้เจลกันมดปลอดภัยร่วมกับอุปกรณ์กันมด ในการป้องกันมดเข้าหาแหล่งอาหารอื่นที่ไม่ใช่เหยื่อล่อมด
- เปลี่ยนยี่ห้อเหยื่อล่อมดใหม่ โดยให้มีส่วนผสมที่เป็นสารออกฤทธิ์แบบใหม่ที่ไม่ซ้ำกับเหยื่อล่อมดอันก่อนหน้า
- ผสมเหยื่อเข้ากับอาหารอย่างอื่น (เหมาะกับเหยื่อแบบผงเท่านั้น) เพื่อให้มดกินเหยื่อที่ผสมอาหารนั้น
2. วางเหยื่อไปหลายรอบมดไม่หมดสักที
สาเหตุ
- เป็นไปได้ว่าเหยื่อล่อมดไม่ได้ผลหรือสารออกฤทธิ์ในเหยื่อล่อมีความเข้มข้นสูงเกินไป มดจึงตายก่อนจะขนเหยื่อกลับถึงรัง มดจึงไม่ลดจำนวนลง
- มดมีจำนวนมาก
วิธีแก้ปัญหา
- เปลี่ยนเหยื่อล่อมดชนิดใหม่ โดยใช้สารออกฤทธิ์ที่มีความเข้มข้นน้อยลง
- วางเหยื่อล่อแบบเดิมไปเรื่อยๆ หากได้ผลมดควรจะลดจำนวนลงอย่างมีนัยยะสำคัญและหมดไปใน 3-4 สัปดาห์อย่างช้า
3. มดหายไปสักระยะแล้วกลับมาใหม่
สาเหตุ
- ถ้าหายไปสองสามวันแล้วกลับมาใหม่ เป็นไปได้ว่าสารออกฤทธิ์ในเหยื่อล่อมดเข้มข้นเกินไป มดอาจตายกลางทางก่อนเอาเหยื่อกลับไปถึงรัง
- ถ้าหายไปเป็นเดือนแล้วกลับมาใหม่ตามฤดูกาล อาจมีมดกลุ่มใหม่มาทำรังใกล้เหยื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้
วิธีแก้ปัญหา
- เปลี่ยนเหยื่อล่อมดใหม่ โดยมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ชนิดเดิม แต่มีความเข้มข้นที่น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ Borax ที่ความเข้มข้น 5.4% ตอนแรก เราใช้สูตรที่มีความเข้มข้น 4.5% ทดแทน
- เริ่มวางเหยื่อใหม่ การกำจัดมดแบบตายยกรัง จำเป็นต้องทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่บ้านของเรามีอาหารและน้ำให้มดเข้าถึงได้ แม้มดกลุ่มเก่าตายไป ก็มีมดกลุ่มใหม่มา เป็นวงจรแบบนี้ต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด
คำแนะนำการใช้ยาฆ่ามดเพิ่มเติม
1. เราควรป้องกันแหล่งอาหารและน้ำที่มดอาจขึ้นได้ทั้งหมดภายในบ้าน เช่น โต๊ะกินข้าว ตู้กับข้าว ถังขยะ กระติกน้ำร้อน อาหารแมว ให้ดีเสียก่อน โดยใช้เจลกันมดปลอดภัย แผ่นรองกันมด ที่รองกันมด และถาดกันมด หลังจากนั้นค่อยทำการวางเหยื่อล่อมด เหตุผลคือ หากมีแหล่งอาหารและน้ำสำหรับมดแหล่งอื่น มดอาจจะกระจายตัวไปตามแหล่งอาหารต่างๆไม่มารุมกินเหยื่อ ส่งผลให้ผลของการใช้เหยื่อเพื่อกำจัดมดยกรังมีประสิทธิภาพต่ำ สำเร็จได้ช้าหรือไม่สำเร็จเลยก็ได้
2. ตราบใดที่ท่านไม่ป้องกันแหล่งน้ำ อาหาร และที่อยู่ของมดภายในบ้านให้ครบทุกจุด แม้จะสามารถกำจัดมดกลุ่มแรกได้ ก็จะมีมดกลุ่มต่อไปเกิดขึ้นตามมาไม่จบสิ้น เพราะบ้านของท่านมีปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตที่มดเข้าถึงได้ง่าย บ้านของผู้เขียนเองไม่เคยใช้ ยาฆ่ามด ใช้เพียงแต่วิธีป้องกันไม่ให้มดเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ผลที่ได้เกินคาด คือ มดในบ้านน้อยลงมาก ถึงมีมาบ้างก็ประปรายและกินอยู่ในบ้านของเราไม่ได้ มดจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้าบ้านของเราอีก เพราะเข้ามาก็ไม่ได้ปัจจัยอะไรออกไป
3. เวลาในการวางเหยื่อล่อมดที่ดีที่สุด คือ ช่วงเดือนที่มดกำลังจะขยายพันธุ์และมีจำนวนมากขึ้น อันได้แก่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะจะกำจัดมดให้ตายยกรังได้ง่ายกว่า เนื่องจากประชากรมดมีจำนวนน้อย
4. โปรดระวังเหยื่อกันมดที่มีส่วนผสมของ cyfluthrin และ permethrin ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลงที่ทำให้มดตายจากการสัมผัสแทบจะในทันที มดจึงนำเหยื่อกลับไปไม่ถึงรัง การกำจัดมดให้ตายยกรังด้วยเหยื่อที่ผสมสารเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
5. เหยื่อล่อมดแต่ละยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์เหมือนกันหรือแตกต่างกัน สารออกฤทธิ์บางชนิดในปริมาณจำเพาะปริมาณหนึ่ง อาจใช้กำจัดมดให้ตายยกรังได้ดีสำหรับมดกลุ่มหนึ่ง แต่อาจใช้ได้ผลน้อยสำหรับมดอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะมดมีหลายสายพันธุ์ หลายขนาด มีความแตกต่างด้านจำนวนและมีความทนทานต่อสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดในแต่ละปริมาณได้ไม่เท่ากัน หากเหยื่อล่อมดที่ใช้อยู่ไม่ค่อยได้ผลดี เราสามารถเปลี่ยนเหยื่อล่อมดใหม่ จนกว่าจะเจอสูตรที่เหมาะสมและได้ผลดี
6. เหยื่อล่อมดแบบกล่อง นอกจากจะป้องกันการเข้าถึงของเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงได้ดีแล้ว ยังสามารถช่วยยืดอายุหรือคุณภาพของเหยื่อจากแสงแดด อากาศและฝุ่นละอองได้
7. เหยื่อล่อมดแบบกล่องบางยี่ห้อเป็นแบบเติมได้และใช้เหยื่อ 2-3 ประเภทได้ในกล่องเดียว การเพิ่มชนิดของเหยื่อเป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นในการที่มดจะกินเหยื่อล่อ เป็นการช่วยแก้ปัญหามดไม่กินเหยื่อเดิมที่เคยกินมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การใช้เหยื่อล่อมด 2-3 ชนิด อาจหมายถึง การลงทุนที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเหยื่อล่อมดเพิ่มเติม
8. ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้มดเป็นกองทัพเดินเข้าบ้าน การวางเหยื่อล่อมดจึงควรทำให้สำเร็จตั้งแต่นอกบ้าน โดยใช้เหยื่อล่อแบบกล่องปิดวางในร่มเป็นจุดนอกบ้านเป็นระยะ (อย่าวางในที่สว่างเพราะมดไม่ชอบแสง) ใกล้ทางเดินมดหรือรังมด กรณีที่เราจำเป็นต้องวางเหยื่อล่อมดในบ้านคือ มีมดเดินเผ่นผ่านในบ้านหลังจากวางเหยื่อนอกบ้านแล้วและเราไม่รู้ว่ามดเข้ามาทางไหนของบ้าน
9. เราจะไม่วางเหยือล่อมดในบริเวณพื้นที่ที่ฉีดสเปรย์ฆ่ามด มดไม่มีทางเข้าใกล้เหยื่อและเข้ามากินเหยื่ออย่างเด็ดขาด เพราะมดรู้ได้จากกลิ่นของยากำจัดแมลงที่ติดอยู่ตามพื้นผิวได้อย่างดี
10. หมั่นตรวจสอบสภาพของเหยือล่อมดที่วางไว้ว่า แห้งไหม? มดมากินไหม? กินหมดไหม? หลังตรวจสอบควรมีการซ่อมบำรุงด้วยการเติมเหยื่อไม่ให้ขาด จนกว่าจะพบว่าไม่มีมดมากินเหยื่ออีกแล้ว 2-3 วัน
11. ความปลอดภัยต่อคนและสัตว์เลี้ยงในบ้านเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แม้เหยื่อล่อมดจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดมดสูงและแก้ปัญหามดได้ค่อนข้างเด็ดขาด แน่นอนว่า สารออกฤทธิ์หรือ active ingredient ในยาฆ่ามดไม่เพียงเป็นพิษต่อมดแต่เป็นพิษต่อคน (โดยเฉพาะเด็กเล็ก) และสัตว์เลี้ยงด้วย การใช้เหยื่อจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยใช้หลักการที่ว่า “คนและสัตว์เลี้ยงต้องเข้าถึงเหยื่อได้ยากแต่มดเข้าถึงได้ง่าย” จุดวางเหยื่อจึงต้องอยู่ในมุมอับที่เข้าถึงได้ยาก เช่น หลังตู้ ใต้ตู้ แต่มดชอบเดินผ่าน
12. อันตรายต่อสัตว์น้ำและผลต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับท่านที่เคยมีประสบการณ์ใช้เหยื่อล่อมดมาแล้ว หากอ่านฉลากดูดีดีจะพบว่าทุกยี่ห้อทุกรุ่น จะมีข้อความแจ้งเตือนถึงวิธีการจัดการว่า “ห้ามไม่ให้ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด” เหตุผล คือ สารออกฤทธิ์ในเหยื่อล่อมดทุกชนิด มีผลเชิงลบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิด
สรุป
การใช้ยาฆ่ามดเพื่อกำจัดมดภายในดูเหมือนจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะมดทำให้ตายยกรัง มดตายหมดก็ไม่น่ามีมดมา? อย่างไรก็ตาม มดเป็นสัตว์ที่มีอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนมดจะมีจำนวนมากและเข้าบ้านเรามากเป็นพิเศษ ด้วยสาเหตุของการต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิต น้ำ อาหาร และที่อยู่
โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากเราซึ่งเป็นเจ้าของบ้านป้องกันปัจจัยในการดำรงชีวิตของมดในบ้านของเรา โดยไม่ให้มดเข้าถึงได้ บ้านของเราก็จะไม่ใช่เป้าหมายที่มดอยากจะอพยพเข้ามา เพราะมดไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมดได้เลย
ดังนั้น การป้องกันแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และที่อยู่ของมดภายในบ้าน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการกำจัดมดให้หมดไป เพราะมดจะไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ เพียงแต่มดกลุ่มเก่าตายไป มดก็จะหายจากบ้านเราไปสักระยะหนึ่ง หากในบ้านของเรามีสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมด โดยที่มดยังเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่แน่ว่าอาจจะมีมดกลุ่มใหม่อพยพหรือมาเยี่ยมบ้านของเราไม่จบไม่สิ้นก็เป็นได้